1548 จำนวนผู้เข้าชม |
DB11 รุ่นท็อปมาพร้อมเครื่องยนต์ V12 ความจุ 5,204 ซีซี. อัพพลังเพิ่มเติมด้วย Twin-turbo ตัวเครื่องยนต์เป็นอะลูมีนัมอัลลอยทั้งบล็อก ให้แรงม้า 600 bhp ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดแตะ 700 Nm ที่ 1,500-5,000 รอบ/นาที แยกกระปุกเกียร์มาไว้บนเพลาหลัง (Rear mid-mounted) เพื่อการสมดุลน้ำหนัก เป็นเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีด ลูกใหม่เอี่ยมจาก ZF ส่งผลให้ DB11 V12 ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ด้วยเวลา 3.9 วินาที ความเร็วสูงสุดแตะ 322 กม./ชม.
ทว่าความน่าสนใจของ DB11 รุ่นเครื่องยนต์ V8 อยู่ที่ ASTON MARTIN ใช้เครื่องยนต์จากพันธมิตรอย่าง Mercedes-AMG เป็นเครื่องยนต์ตัวเดียวกับตัวแรง AMG GT บล็อก V8 Twin-turbo ใช้ปริมาตรกระบอกสูบ 3,982 ซีซี. พร้อม Dual Single Scroll Turbochargers เมื่อมาประจำการใต้ฝากระโปรงหน้าของ DB11 ถูกเซทอัพซอฟต์แวร์เพื่อลดดีกรีความแรงลงเล็กน้อย ปลดปล่อยแรงม้าในระดับ 503 bhp ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 675 Nm ที่ 2,000-5,000 รอบ/นาที และยังคงเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีดลูกเดิม
การหั่นกระบอกสูบทิ้งไป 4 สูบ จาก V12 สูบ ลดลงมาเหลือ V8 สูบ สามารถลดน้ำหนักลงไปได้ร่วม 115 กิโลกรัม ส่งผลให้การกระจายน้ำหนักระหว่าง ล้อหน้า/ล้อหลัง เปลี่ยนไป ของเครื่องยนต์ V12 ทำไว้ที่อัตราส่วน 51%/49% ท่อนหน้ารถที่เบาขึ้นจากเครื่องยนต์ V8 เป็นที่มาของตัวเลข 49%:51% เมื่อน้ำหนักถูกกระจายมาที่ล้อหลังมากขึ้น หมายถึงผู้ขับจะสัมผัสอาการโอเวอร์สเตียร์ของ DB11 V8 ได้ง่ายขึ้นด้วย อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. เคลมมาที่เวลา 4.0 วินาที และท็อปสปีดถูกล็อคไว้ที่ 300 กม./ชม.
การแชร์เทคโนโลยี ระหว่าง ASTON MARTIN กับเครือรถเยอรมันสุดแข็งแกร่งอย่าง ‘DAIMLER AG’ (Mercedes-Benz) ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกใน DB11 V8 แต่เกิดขึ้นนับตั้งแต่เริ่มต้นโปรเจ็กต์ DB11 และนั่นช่วยสร้างทางลัดในการปรับตัว เข้าสู่โลกใหม่ของ ASTON MARTIN อย่างเป็นทางการ ทั้งในส่วนของโครงสร้างตัวถัง เครื่องยนต์ ไปจนถึงระบบไฮเทคภายในห้องโดยสาร
DB11 แชร์เทคโนโลยีจาก Mercedes-Benz ในส่วนอุปกรณ์ Infotainment ซึ่งกลายเป็นของเล่นไฮเทคสำหรับรถยนต์ยุคใหม่ ไม่ได้เป็นแค่อุปกรณ์ให้ความบันเทิง ดูหนัง ฟังเพลง เหมือนในอดีต แต่ถูกยกระดับจนไม่แตกต่างกับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในรถยนต์ รองรับระบบนำทางด้วยดาวเทียม, ระบบติดต่อสื่อสารทั่วไป, เชื่อมโยงกับโซเชียลมีเดีย, Wi-Fi Hotspot ไล่ไปจนถึงการแจ้งขอความช่วยเหลือยามเกิดอุบัติเหตุ
คอนโซลหน้าของ DB11 ใช้จอจำนวน 2 ชุด จอหลักเป็นจอสี TFT LCD ขนาด 12 นิ้ว รับหน้าที่แสดงข้อมูลสำหรับผู้ขับโดยตรง ในตำแหน่งแทนที่ชุดมาตรวัดอนาล็อกแบบดั้งเดิม มาตรวัดความเร็ว วัดรอบ จึงปรับตัวมาสู่ยุคดิจิตอลได้อย่างลงตัว ขณะที่จอเสริมใช้ TFT ขนาด 8 นิ้ว เน้นไปที่อุปกรณ์ Infotainment ทั้งหลาย นอกจากรับคำสั่งผ่านระบบสัมผัสแบบ Multi-touch เช่นเดียวกับการใช้งานแท็บเล็ต ยังรองรับฟังก์ชั่น Gesture Support ใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวลักษณะต่าง ๆ ของมือเพื่อรับคำสั่งด้วย
ในส่วนของโครงสร้าง DB11 ใช้แบบโมโนค็อกที่ขึ้นรูปจากอะลูมีเนียม ด้วยกรรมวิธี HFQ (Hot Form Quenched) รับประกันความแข็งแกร่ง ไม่เป็นรองเหล็กกล้า ทว่าเบากว่ากันมาก โครงสร้างบานประตูขนาดใหญ่ขึ้นรูปจากแม็กนีเซียมหล่อ มุ่งลดน้ำหนัก ฝาประโปรงดีไซน์ในรูปแบบ Clamshell ใช้ฝากระโปรงบานใหญ่ครอบคลุมไปถึงซุ้มล้อหน้า พร้อมการเปิดในลักษณะคล้ายเปลือกหอย ฝากระโปรงชิ้นใหญ่ รวมทั้งพื้นผิวส่วนหลังคาและบานประตู ผลิตจาก Aluminium Pressing ขณะที่ชุดปีกหน้า, ปีกหลัง, กันชนรอบคัน และชุดดิฟฟิวเซอร์ท้ายรถเป็น Composite Material
DB11 นับเป็นก้าวแรกในการเข้าสู่ศตวรรษที่สองของ ASTON MARTIN เป็นยุคที่มีความเปลี่ยนแปลง ระดับปฏิวัติเทคโนโลยี ทั้งในสายการผลิตแชสซีรถสมรรถนสูง รวมทั้งเครื่องยนต์อันทรงพลัง เพื่อให้สอดรับกับความเข้มงวดของมาตรฐานอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ที่มุ่งมั่นลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ลดการปล่อย CO2 สู่บรรยากาศ และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในรถทุกกลุ่มอย่างแท้จริง
ภาพ : ASTON MARTIN
เรียบเรียง : Pitak Boon