มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จัดขบวนคาราวานมุ่งสู่อยุธยา กระชับความสัมพันธ์ 130 ปี ไทย-ญี่ปุ่น

1171 จำนวนผู้เข้าชม  | 

 

โดย...อัฐฒา นายเรือ

 

          เมื่อ 130 ปีก่อน ความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวญี่ปุ่นและชาวไทย ได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการในรูปแบบของความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อมีการลงนาม “หนังสือปฏิญญาว่าด้วยทางพระราชไมตรีและการค้าขายระหว่างประเทศสยามกับประเทศญี่ปุ่น” อันที่จริงความสัมพันธ์ดังกล่าวได้เริ่มต้นตั้งแต่สมัยสุโขทัยเรื่อยมาจนกระทั่งสมัยอยุธยา

          ในโอกาสที่ความสัมพันธ์นี้ครบรอบ 130 ปี มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมคาราวานเพื่อร่วมกระชับความสัมพันธ์ดังกล่าวพร้อมให้สื่อมวลชนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น และสัมผัสกับนวัตกรรมยานยนต์ใหม่ถึง 4 รุ่นด้วยกัน ได้แก่ มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต, มิตซูบิชิ ไทรทัน, มิตซูบิชิ แอททราจ และ มิตซูบิชิ มิราจ โดยมีจุดหมายปลายทางที่จังหวัดอยุธยา พร้อมเยี่ยมชมหมู่บ้านญี่ปุ่นเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของทั้ง 2 ชาติ รวมไปถึงการพาเหล่าสื่อมวลชนไปชมทัศนียภาพอันงดงามของกรุงเก่าในจุดต่าง ๆ

 

 

          จุดหมายแรกของการเดินทางในครั้งนี้คือ หมู่บ้านญี่ปุ่น ซึ่งก่อตั้งขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาในจังหวัดอยุธยา โดยมีมร. นางามาสะ ยามาดะ เป็นผู้นำของหมู่บ้าน ในอดีตมีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ไม่น้อยกว่า 1,500 คน โดยส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นพ่อค้าและนักรบ

          นอกจากจะเป็นผู้นำของหมู่บ้านแล้ว มร. ยามาดะ ยังเป็นทั้งพ่อค้าและนักรบ โดยท่านมีโอกาสเข้าร่วมกองทัพสยามและประสบความสำเร็จด้วยทักษะทางการทหารที่ยอดเยี่ยมทั้งยังมีความจงรักภักดีต่อสยาม จึงได้รับการแต่งตั้งเป็น “ออกญาเสนาภิมุข” ต่อมาภายหลังท่านยังได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่สูงสุดที่ชาวญี่ปุ่นเคยได้รับในสมัยอยุธยา

 

 

          ทั้งนี้ ยังมีชาวญี่ปุ่นอีกท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียงในหมู่บ้านดังกล่าวซึ่งก็คือ คุณหญิงมารี กีมาร์ เดอ ปีนา ลูกครึ่งญี่ปุ่น-โปรตุเกส ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น “ท้าวทองกีบม้า” หลังรับราชการในพระราชวังในตำแหน่งหัวหน้าห้องเครื่องต้น ซึ่งเชื่อกันว่าท่านเป็นผู้ให้กำเนิดต้นตำรับขนมไทยทั้งทองหยิบ ทองหยอด และฝอยทอง ทำให้ชาวไทยขนานนามท่านเป็น “ราชินีแห่งขนมไทย”

 

 

          หลังออกจากหมู่บ้านญี่ปุ่น มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ได้พาสื่อมวลชนไปร้านอาหารท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน โดยสื่อมวลชนผู้ร่วมกิจกรรมมีโอกาสได้ลองทำขนมไทยด้วยตัวเอง รวมไปถึงการขับรถชมทัศนียภาพเมืองหลวงในอดีตของประเทศไทย ไปพร้อมกับการสัมผัสนวัตกรรมยานยนต์ของ มิตซูบิชิ ครบทั้ง 4 รุ่นได้แก่ มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต ใหม่ สร้างประสบการณ์ให้ผู้ร่วมเดินทางท่องเที่ยวอย่างมั่นใจ ด้วยอุปกรณ์ความปลอดภัยขั้นสูงครบครัน ทั้งอุปกรณ์เชิงป้องกันก่อนเกิดเหตุและเชิงปกป้องเมื่อเกิดเหตุ อาทิ ACC ระบบล็อคความเร็วแบบแปรผันอัตโนมัติ FCM ระบบเตือนการชนด้านหน้าตรงพร้อมระบบช่วยชะลอความเร็ว UMS ระบบตัดกำลังเครื่องยนต์ชั่วขณะเมื่อเหยียบคันเร่งอย่างรุนแรงและรวดเร็ว และถุงลมนิรภัย 7 ตำแหน่ง นอกจากนั้น ผู้โดยสารตอนหลังยังเพลิดเพลินไปกับระบบเครื่องเสียงเหนือชั้นด้วย จอภาพแบบ Wide Screenสำหรับผู้โดยสารตอนหลัง พร้อมเครื่องเล่น DVD รีโมทคอนโทรล และหูฟังอินฟราเรด 2 ชุด

 

 

          ส่วน มิตซูบิชิ ไทรทัน ใหม่ พร้อมมอบสมรรถนะแห่งการขับขี่เหนือระดับด้วยเครื่องยนต์ MIVEC Clean Diesel ขนาด 2.4 ลิตร เสื้อสูบและฝาสูบอะลูมินัมอัลลอย ให้พละกำลังสูงสุด 181 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 430 นิวตันเมตร พร้อมลุยทุกสภาพถนนด้วยระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ Super Select 4WD II และระบบล็อคเฟืองท้าย ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้า ใช้งานง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส

 

 

          สำหรับการขับขี่ที่คุ้มค่าและประหยัดน้ำมันต้องยกให้กับ มิตซูบิชิ แอททราจ ใหม่ และ มิตซูบิชิ มิราจ ใหม่ ที่ขับเคลื่อนโดยเครื่องยนต์เบนซิน DOHC MIVEC 12 วาล์ว ทำงานร่วมกับเกียร์อัตโนมัติ CVT พร้อมระบบ INC และ G-Sensor ให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงสูงสุด 23.3 กิโลเมตร/ลิตรใน แอททราจ ใหม่ และ 23.8 กิโลเมตร/ลิตร ใน มิราจ ใหม่

 

 

หมู่บ้านญี่ปุ่น (ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา)

          หมู่บ้านญี่ปุ่น เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์อยุธยา สมัยที่อยุธยารุ่งเรื่องถึงขีดสุด มีการค้าขายกับนานาชาติ หลายประเทศรวมทั้งญี่ปุ่น จนเป็นชุมชนญี่ปุ่นเกิดขึ้นในไทย ยามาดะ นางามาซะ หรือ ออกญาเสนาภิมุข ผู้นำและหัวหน้าหมู่บ้านญี่ปุนสมัยนั้น ได้ตั้งกองอาสาญี่ปุ่นขึ้น และช่วยปราบกบฎ จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นถึงเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช

          ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา แห่งนี้จึงน่าสนใจไม่น้อย และรอบบริเวณยังจัดเป็นสวนแบบญี่ปุ่น เพื่อระลึกถึงชาวญี่ปุ่นในสมัยนั้นด้วย 

          ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา จัดตั้งขึ้นตามโครงการที่นักวิชาการไทย และนักวิชาการญี่ปุ่น ปรับขยายมาจากข้อเสนอเดิมของสมาคมไทย-ญี่ปุ่น และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเคยเสนอปรับปรุงบริเวณที่เคยเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่น ให้จัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่น มาเป็นการเสนอให้จัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสถาบันวิจัย และพิพิธภัณฑสถาน เกี่ยวกับราชอาณาจักรอยุธยาโดยรวม และได้รับงบประมาณช่วยเหลือแบบให้เปล่า จากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเงิน 999 ล้านเยน (170 ล้านบาท) เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในพระบรมราชวโรกาส ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา และเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาส ที่มิตรภาพระหว่างประเทศญี่ปุ่น กับราชอาณาจักรไทยได้สถาพรยืนนานมาครบ 100 ปี

          ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาแห่งนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนอาคารหลัก ตั้งอยู่ที่ถนนโรจนะ ใกล้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เป็นอาคาร 2 ชั้น มีห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์อยู่ชั้นบน และอีกส่วนคือ ส่วนอาคารผนวก ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะเรียนในบริเวณหมู่บ้านญี่ปุ่น

          พิพิธภัณฑ์ของศูนย์แห่งนี้ มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นคือ การพยายามสร้างภาพชีวิต สังคม วัฒนธรรมในอดีตให้กลับมามีชีวิตขึ้นใหม่ด้วยข้อมูลการวิจัย (Researched based Reconstruction) โดยการนำเทคโนโลยีของการจัดพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่มาใช้จัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งจะทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจชีวิตในอดีตได้ง่าย การจัดแสดงมีทั้งสิ้น 5 หัวข้อคือ อยุธยาในฐานะราชธานี อยุธยาในฐานะเมืองท่า อยุธยาในฐานะของศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองและการปกครอง

          ความสัมพันธ์ของอยุธยากับนานาชาติและชีวิตชาวบ้านไทยสมัยก่อน ทั้งนี้ นิทรรศการทุกอย่าง ที่นำมาแสดงในศูนย์ได้รับการตรวจสอบข้อมูลทางประวัติศาสตร์ อย่างละเอียดจากคณะอนุกรรมการ ด้านวิชาการของคณะกรรมการอำนวยการมาแล้ว

 

เกี่ยวกับหมู่บ้านญี่ปุ่น

          ชุมชนชาวญี่ปุ่นในอยุธยาน่าจะมีขึ้นในสมัยพระนเรศวร ซึ่งเป็นชุมชนเล็ก ๆ ของพ่อค้าเรือสำเภาญี่ปุ่นที่ตั้งคลังสินค้า เพื่อรวบรวมสินค้าไว้คอยสำเภาจากญี่ปุ่นในฤดูกาลปีต่อไป เรือสำเภาของญี่ปุ่นที่ เดินทางมาทำการค้าในอุษาคเนย์นี้ ประมาณว่ามีขึ้นในราวปลายสมัยพระมหาธรรมราชา (พ.ศ.2132) แต่ก่อนหน้านี้สยามกับญี่ปุ่นต่างติดต่อทำการค้าระหว่างกันโดยมีอาณาจักรริวกิว หรือปัจจุบันคือ หมู่เกาะโอกินาวา เป็นตัวแทนการค้า รวมทั้งตัวแทนการค้ากับจีนด้วย

 

 

          บ้านญี่ปุ่น ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออก ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ของเกาะเมือง ฝั่งตรงกันข้ามแม่น้ำเป็นบ้านโปรตุเกส ส่วนติดกับด้านเหนือมีคลองเล็ก ๆ คั่นเป็นบ้านอังกฤษ และบ้านฮอลันดา ประมาณว่าในช่วงเฟื่องฟูทางการค้าอยุธยา-ญี่ปุ่นนั้น บ้านญี่ปุ่นมีประชากรอยู่ราว 1,000-1,500 คน แต่ด้วยปัจจัยที่ผู้นำชุมชนบ้านญี่ปุ่นซึ่งมีกำลังทหารเข้มแข็ง และยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในราชสำนักอยุธยาอย่างมาก ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนกษัตริย์ และราชวงศ์ใหม่เป็นพระเจ้าปราสาททองเมื่อพ.ศ.2172 ออกญาเสนาภิมุข หรือยามาดะ นางามาซะ เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่นก็ได้รับคำสั่ง ให้ไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อปราบกบฎในหัวเมืองภาคใต้ ต่อมาพระเจ้าปราสาททองจึงส่งกองทหารทำลายล้าง บ้านญี่ปุ่นที่อยุธยาอย่างราบคาบ แต่ชาวญี่ปุ่นรู้ตัวล่วงหน้า จึงพากันลอบอพยพออกจากอยุธยาไปก่อนแล้ว บ้านญี่่ปุ่นน่าจะมีประชากรลดลงตลอดเวลา ซึ่งปัจจัยคือการปิดประเทศญี่ปุ่นในช่วงต้นสมัยพระเจ้าปราสาททอง อันเนื่องมาจากญี่ปุ่นต้องการกีดกันคริสต์ศาสนา คำสั่งนี้ห้ามทั้งการทำการค้ากับภายนอก และห้ามคนญี่ปุ่นจากภายนอกกลับเข้าประเทศ ชาวญี่ปุ่นในสมัยอยุธยายังคงมีบทบาทในการค้าทางสำเภาต่อไป แต่เป็นการค้าในอาณาบริเวณจำกัด

 

วัดหน้าพระเมรุ

          วัดหน้าพระเมรุ ตั้งอยู่ที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ริมคลองสระบัวด้านเหนือของคูเมือง (แม่น้ำลพบุรีเก่า) ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง มีชื่อเดิมว่า "วัดพระเมรุราชการาม" แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างในสมัยใด พิจารณาได้ว่าน่าจะเป็นวัดสร้างขึ้นตรงที่ถวายพระเพลิงกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งในต้นสมัยอยุธยา เป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าทำลาย และยังคงสภาพที่ดีมาก เพราะพม่าได้ไปตั้งกองบัญชาการอยู่ที่วัดนี้ พระอุโบสถเป็นแบบอยุธยาซึ่งมีเสาอยู่ภายใน แต่น่าจะมาเพิ่มเสารับชายคาทีหลังในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระประธานในอุโบสถซึ่งสร้างปลายสมัยอยุธยา เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องหล่อสำริดขนาดใหญ่ที่สุดที่ปรากฏและมีความงดงามมาก ด้านหลังพระอุโบสถยังมีอีกองค์หนึ่งแต่เล็กกว่า คือ พระศรีอริยเมตไตรย์

 

 

          สิ่งสำคัญที่ปรากฏภายในวัดนี้คือ พระอุโบสถและพระพุทธรูปประธานทรงเครื่องใหญ่ ซึ่งคงสร้างขึ้นราวรัชกาลของพระเจ้าปราททอง หน้าบันของพระอุโบสถเป็นไม้แกะสลักปิดทองที่แสดงรูปพระนารายณ์ทรงครุฑแวดล้อมด้วยเหล่าเทวดา คติดังกล่าวเป็นที่นิยมในสมัยโบราณที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ คือเป็นพระนารายณ์อวตาร ดังนั้น หน้าบันของโบสถ์ วิหาร หรือปราสาทราชวังที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างหรือทรงบูรณะก็มักจะทำรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเป็นสำคัญ อันมีความหมายว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดหลวง

 

 

          สำหรับพระพุทธรูปประธานทรงเครื่องใหญ่ก็สร้างในคติของพระพุทธเจ้าปางโปรดพญามหาชมพู ตามความในมหาชมพูบดีสูตร ซึ่งเป็นรูปแบบของพระพุทธรูปที่นิยมมากในสมัยอยุธยาตอนกลางต่อลงมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระพุทธรูปองค์นี้อาจเปรียบเทียบได้กับพระพุทธรูปทรงเครื่องภายในเมรุทิศเมรุรายของวัดไชยวัฒนารามที่สร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าปราททองได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้จึงอนุมานได้ว่าพระพุทธรูปประธานภายในพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุก็คงจะสร้างขึ้นในช่วงเวลานั้นด้วยเช่นกัน

          ทางทิศตะวันออกของพระอุโบสถมีวิหารน้อยที่สร้างขึ้นโดยพระยาชัยวิชิต (เผือก) ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีรูปแบบลอกเลียนมาจากพระอุโบสถ แต่ลดขนาดให้เล็กลงกับทั้งเปลี่ยนหน้าบันให้เป็นลายพรรณษาตามความนิยมของศิลปะในช่วงนั้น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปแบบทวาราวดีขนาดใหญ่ซึ่งอัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุ อยุธยา

 

 

          เชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้แต่เดิมคงประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดนครปฐมมาก่อน และได้ย้ายมายังวัดมหาธาตุ อยุธยา ราวรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็เป็นได้ พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปศิลาประทับนั่งห้อยพระบาทที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน นับเป็น 1 ใน 6 องค์ ที่มีอยู่ในประเทศไทย จึงนับเป็นสิ่งที่มีค่ามาก

          ข้าง ๆ พระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ ยังมีวิหารน้อยหรือวิหารเขียน ซึ่งมีภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องการค้าสำเภาและพุทธชาดกต่าง ๆ แล้วยังมีพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทสมัยทวารวดีขนาดใหญ่ สลักจากหินปูนสีเขียวแก่ เรียกว่า "หลวงพ่อคันธารราฐ" ซึ่งมีอยู่ไม่กี่องค์ในเมืองไทยเวลานี้ ความเก่าแก่นั้นกล่าวได้ว่าเก่าแก่สมัยสุโขทัย ไล่เลี่ยกับยุคสมัยของบูโรพุทโธ หรือบรมพุทโธ บนเกาะชวาในอินโดนีเซียเมื่อกว่า 1,000 ปีมาแล้ว

 

 

          เจดีย์ราย 3 องค์ ที่มีรากไทรแผ่เข้าครอบคลุม ด้านหลังพระอุโบสถของวัดหน้าพระเมรุ น่าจะคุ้นตาสำหรับผู้ที่เคยเห็นภาพวาดกรุงศรีอยุธยาในหนังสือของ อังรี มูโอต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5

 

พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่น เกริก ยุ้นพันธ์

          พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่น เกริก ยุ้นพันธ์ เกิดขึ้นมาจากแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ของ รศ. เกริก ยุ้นพันธ์ ท่านเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และยังเป็นนักวาดภาพประกอบ และคนทำหนังสือสำหรับเด็ก มีผลงานหนังสือภาพจำนวนมากมาย และเคยได้รับรางวัล นอมา (NOMA) จากประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งจากรางวัลนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดความคิดอยากสร้างพิพิธภัณฑ์ของเล่น ขึ้นในเมืองไทย อาจารย์เกริก กล่าวว่า ผมทำหนังสือเด็กแล้วมีโอกาสได้ไปเห็นพิพิธภัณฑ์ของเล่นสังกะสีที่ญี่ปุ่น มันเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ ทำให้คิดเริ่มเก็บของเกี่ยวกับเด็กมาตั้งแต่ปี 2526 ก็เลยคิดว่าเลือกที่จะเก็บของเล่นและข้าวของเครื่องใช้ หนังสือเด็ก แบบเรียนเก่าดีกว่า มันน่าสนใจ เพราะไม่มีใครเก็บ ก็เลยเริ่มเก็บเดิน คลองถม เดินตลาดสามแยก เดินจตุจักร ตอนที่เริ่มเก็บของเล่นเก่าก็คิดว่าจะมีของให้เก็บได้เยอะแค่ไหน แต่ยิ่ง เก็บก็ยิ่งเจอ ผมเชื่อว่าถ้าทุกคนมีความมุ่งมั่น ใฝ่ฝัน และตั้งใจที่จะทำจริง สิ่งที่เราตั้งใจจะเวียนมาเอง คนอื่นอาจมองว่าของเล่นก็เป็นของเล่น แต่ผมเห็นว่าของเล่นเป็นพิพิธภัณฑ์ได้

 

 

          ภายในพิพิธภัณฑ์ล้านของเล่นจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนด้านนอกอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจัดเป็นสวน พักผ่อน ร่มรื่น เต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่นานาพันธุ์ มีของเล่นเป็นม้าโยก ตั้งเรียงรายอยู่ด้านหน้า และบริเวณ สวนให้น้อง ๆ หนู ๆ ได้สนุกสนานกับการเล่นดังกล่าว รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ได้ย้อนอดีตในวัยเยาว์อีกครั้งหากใครมาที่นี่แล้วหิวบริเวณด้านหน้าก็มีร้านอาหาร “ร้านข้าวแกงบ้านอาจารย์เกริก” ซึ่งจะขาย ก๋วยเตี๋ยวข้าวแกง และมีเครื่องดื่มกาแฟโบราณ ไอศกรีม

          ส่วนที่สองคือ อาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลังใหญ่ 2 ชั้น สูงโปร่งทาสีขาวทั้งหลัง มีประตู หน้าต่าง แบบบ้านสมัยเก่าทาสีฟ้าดูสดใส ภายในแบ่งเป็นสองชั้น เมื่อก้าวเข้าไปสู่ตัวพิพิธภัณฑ์ด้านใน ก็จะพบกับสิ่งของจัดแสดงไว้มากมาย อาจารย์เกริกได้ใช้เวลาร่วม 20 กว่าปีในการสะสม ชั้นล่างของอาคารจัดแสดงของเล่นไทยยุคเก่าในสมัยสุโขทัย อยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ มีทั้งตุ๊กตาดินเผา กระปุก ออมสินดินเผา ฯลฯ และมีพวกข้าวของเครื่องใช้คนไทยยุคโบราณ ตั้งแต่ 100 ปีย้อนลงมาถึง 30 ปีที่แล้ว มีของโชว์มากมาย และมีการจัดแสดงใส่ตู้โชว์อย่างเป็นระเบียบสวยงาม ของโบราณที่ชวนชมมีมากมาย อาทิ เครื่องเงิน ภาพพิมพ์โบราณ เครื่องรางของขลัง เครื่องแก้วอายุหลายร้อยปี ปิ่นโตเก่าลายสวยงาม งานทองเหลือง วิทยุโบราณ สิ่งพิมพ์ยุคแรกของคนไทย หนังสือเก่า เครื่องเรือนโบราณ โปสการ์ด จดหมายในยุคแรกที่เริ่มมี การไปรษณีย์ ฯลฯ และที่ชั้นล่างนี้ยังมีการจัดแสดงภาพวาดลวดลายสวยงามน่ารัก ที่เป็นฝีมือของอ.เกริกนอกจากนี้ ยังมีส่วนของร้านขายของที่ระลึกด้วย มีทั้งสมุดโน๊ต แก้วน้ำ เสื้อ กระเป๋า และของเล่นสังกะสีที่ทำเลียน แบบของเล่นสมัยเก่าก็มีให้ซื้อเป็นของที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับบ้านกัน

          ในส่วนของชั้นสอง ก็จะได้พบกับโมเดลการ์ตูนขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอุลตร้าแมน ซูเปอร์แมน สไปเดอร์แมน เจ้าหนูอะตอม และอีกหลากหลายตัวที่คอยยืนต้อนรับทุกคนอยู่ และก็จะได้พบกับเหล่าของเล่นจำนวนมากมาย ที่ถูกจัดแสดงไว้ในตู้กระจก อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยดูละลานตาไปหมด จัดแสดงเป็นหมวดหมู่ ไล่เลียงไป ตั้งแตของเล่นสมัยเก่าไปจนถึงของเล่นสมัยใหม่ โดยมีพวกของเล่นสมัยเก่าให้ดูเป็นจำนวนมากและหลากรูปแบบ อาทิ ของเล่นสังกะสีสารพัดรูปแบบ มีทั้งหุ่นยนต์สังกะสีที่มีกลไก รถยนต์-เรือ-รถไฟสังกะสีที่มีสีสันสวยงาม มีตุ๊กตาเซลลูลอยด์สารพัดแบบ ตุ๊กตาสัตว์ไขลาน ของเล่นที่ทำจากดิน ไม้ ผ้า ของเล่นที่ใช้ถ่าน และอีกหลากหลายของเล่นที่หาดูได้ยากแต่ที่นี่มีให้ดู รวมไปถึงมีของเล่นสมัยใหม่ที่เด็ก ๆ ชื่นชอบให้ได้ดูกันด้วย และก็ยังมี พระ เข็มตรา เหรียญเงินตราของเก่า สะสมให้ดูด้วย เรียกว่าได้มีความสุขกับการได้ชื่นชมกับเหล่าของเล่นและ ข้าวของเครื่องใช้สมัยโบราณ ที่มีคุณค่าอยู่ในตัวกันอย่างเต็มอิ่ม

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้