1182 จำนวนผู้เข้าชม |
หากกล่าวถึงสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ส่วนมากคนจะนึกถึงเรื่องการรับรองคุณภาพ การเยี่ยมสำรวจ การกำหนดมาตรฐาน HA งานด้านวิชาการ ฯลฯ อย่างไรก็ดี บทบาทของ สรพ. ไม่ได้ approach เฉพาะแค่โรงพยาบาลและผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขเท่านั้น ยังมีภาคส่วนอื่นๆ ที่ สรพ. เข้าไปสานเครือข่าย ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคประชาสังคม หรือแม้แต่กลุ่มที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันได้อย่างเช่น นักเรียน/วัยรุ่น ก็เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายที่ สรพ. เข้าไปทำงานด้วยเช่นกัน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 2– 4 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา สรพ.ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “เยาวชนคนคุณภาพ” โดยมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4 – ม6) จากพื้นที่ กทม. ปริมณฑล จังหวัดในภาคกลางและภาคตะวันออก ที่สนใจเข้าเรียนแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือวิชาชีพสาธารณสุขอื่นๆ จำนวน 30 คน เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
งานด้านคุณภาพสถานพยาบาล เกี่ยวข้องอย่างไรกับนักเรียนมัธยมปลาย ทำไมถึงจัดค่ายอบรมนี้ขึ้นมา พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ หรือ “คุณหมอนุ้ย” ผู้อำนวยการ สรพ. มีคำตอบ
พญ.ปิยวรรณ เล่าว่า เป้าหมายของการจัดเวิร์กชอปครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์อยู่ 2 ประการ ประการแรกเป็นการสื่อสารสังคม เนื่องจากในระบบสุขภาพมีการพัฒนางานด้านคุณภาพมากมายแต่ยังสื่อสารไปไม่ถึงประชาชน ดังนั้นทีมงานจึงตีโจทย์ว่าถ้าจะเลือกกลุ่มไหนในการสื่อสารเรื่องเหล่านี้และได้ข้อสรุปว่าอยากสื่อสารกับกลุ่มเยาวชน เนื่องจากคนกลุ่มนี้สามารถส่งต่อ message ไปยังผู้ปกครองและคนรอบข้างได้ อีกทั้งเยาวชนเป็นกลุ่มที่มีพลังความคิดสร้างสรรค์ สามารถส่งต่อ message ออกไปได้ดีกว่า สรพ. ทำเอง
เป้าหมายประการต่อมา คือการสร้างเครือข่ายและเนื่องจากกลุ่มที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมมีความสนใจจะเรียนต่อเป็นแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ฯลฯ จึงถือเป็นการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ สร้าง mindset ดีๆแก่บุคลากรสาธารณสุขในอนาคต น้องๆได้รู้จักระบบการทำงาน ได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์และแรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ และทำให้สามารถตัดสินเส้นทางในอนาคตได้ว่าตัวเองเหมาะสมกับวิชาชีพสาธารณสุขหรือไม่
ด้าน ดร.บรรจง จำปา รองผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า โครงการนี้จัดขึ้นมาเป็นรุ่นที่ 2 แล้ว สำหรับปีที่ผ่านมานั้นเนื่องจากมีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จึงออกแบบกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด แต่ในปีนี้เป็นการจัดแบบ on site ออกแบบกิจกรรมต่างๆโดยเน้นให้น้องๆเยาวชนเป็นศูนย์กลาง เริ่มตั้งแต่วันแรกน้องๆและผู้ปกครองที่มาส่งจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องคุณภาพสถานพยาบาล จากนั้นพาไปดูงานในสถานที่จริงที่ที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รู้จักระบบต่างๆในสถานพยาบาล เช่น ระบบบริหารจัดการยา ระบบธนาคารเลือด ระบบห้องปฏิบัติการ ระบบควบคุมป้องกันติดเชื้อ ระบบเวชระเบียน ระบบสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ทำความเข้าใจกับงานคุณภาพทั้ง 5 ด้านว่าคืออะไร ได้ทดลองบทบาทสมมุติในการเป็นผู้เยี่ยมสำรวจและทำการตามรอยคุณภาพงานในระบบต่างๆว่าเทียบกับมาตรฐานของ สรพ.แล้วเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ น้องๆยังจะได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์จากแพทย์รุ่นพี่ ที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์การทำงานในโรงพยาบาล เส้นทางการสู่อาชีพ แรงกดดันในการทำงาน ฯลฯ และทำกิจกรรมเพื่อค้นหาตัวเองว่าจะวางเส้นทางชีวิตในอนาคตอย่างไร
“สิ่งสำคัญคือเรื่องของการสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆเขาค้นหาตัวเองว่าตกลงฉันจะไปซ้ายหรือไปขวา สิ่งที่เตรียมตัวจะเรียนต่อเป็นความชอบของพ่อแม่หรือเป็นความชอบของตัวเขาเอง”ดร.บรรจงกล่าว
ด้านนายธนกร เฮงสุนทร นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมโครงการเยาวชนคนคุณภาพในปีที่ผ่านมา และกลับมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับน้องๆในปีนี้ กล่าวว่า ประสบการณ์การเข้าค่ายเวิร์กชอปเมื่อปีก่อนส่งผลกับการวางเส้นทางในอนาคตของตนอย่างมาก ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตนค้นหาตัวเอง ถามตัวเองว่าอยากจะเข้าเรียนสาขาไหน ด้วยความที่มีผลการเรียนดีในระดับหนึ่ง ครอบครัวจึงอยากให้เรียนแพทย์
“ตอนนั้นก็ไม่ได้ปฏิเสธนะครับว่าจะไม่เป็นแพทย์โดยสิ้นเชิง เพียงแต่ละขอเวลาทำความเข้าใจ หาข้อมูลเพิ่มเติมก่อน ประกอบกับตอนนั้นเพื่อนชวนให้มาเข้าร่วมค่ายนี้ ตอนนั้นยังไม่รู้จัก สรพ. ก็เลยทำการบ้านไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมและทราบว่าเขาทำหน้าที่เกี่ยวกับการประเมินคุณภาพ งานด้านระบบของโรงพยาบาล ซึ่งเป็นหนึ่งในฟิลด์ของงานสาธารณสุข ทำให้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเราเองต้องการเข้ามาทำความเข้าใจว่าถ้าเราเลือกเรียนสายนี้แล้วต้องกลายมาเป็นบุคลากรสาธารณสุขมันจะเป็นอย่างไร ตอนนั้นเลือกดูงานที่ รพ.ด่านมะขามเตี้ย ได้เห็นบทบาทการทำงานของเจ้าหน้าที่ในระบบต่างๆว่ามีกระบวนการทำงานอย่างไร เข้าใจภาพรวมของการทำงานของบุคลากรที่อยู่ในระบบสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น เมื่อได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นแล้ว มันเป็นข้อมูลชั้นดีเลยในการที่ทำให้เรากลับมาขบคิดกับตัวเองต่อว่ายังอยากที่จะเรียนแพทย์ไหม คำตอบที่ได้คือแพทย์ไม่ได้แย่หรือหนักอย่างที่คิด มันมีความหนักและความยากของการทำงานและการเรียน แต่มีวิธีจัดการเพื่อให้เกิดความสมดุลได้ ดังนั้นเลยตัดสินใจว่าจะเลือกเดิมพันบนเส้นทางนี้และเป็นสาเหตุที่ตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีครับ”นายธนกร กล่าว
ด้าน น.ส.นภัค จันทรสมบัติ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนระยองวิทยาคม หนึ่งในผู้เข้าร่วมเวิร์กชอปในปีนี้ กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ เหมือนเป็นการเปิดโลกอีกโลกหนึ่ง ป็นครั้งแรกที่ได้เห็นอีกมุมหนึ่งของระบบสถานพยาบาลที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
น.ส.นภัค กล่าวต่อไปว่า กิจกรรมที่ชอบมากที่สุดคือการลงพื้นที่ดูงานในโรงพยาบาลจริงๆ ที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เห็นการทำงานของแพทย์จริงๆ มีอาจารย์แพทย์ตัวจริงเสียงจริงเสียสละเวลาอันมีค่ามาให้ความรู้อย่างจริงจังทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการเป็นแพทย์มากขึ้นไปอีก
“การเข้าร่วมกิจกรรมกับ สรพ. ส่งผลกับหนูมากมากๆเลยค่ะ ยอมรับว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่เครียด เพราะอยู่ ม.ปลาย แล้ว ต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีอยู่ช่วงหนึ่งที่หมดไฟไปเลย แต่พอได้เข้าร่วมเวิร์กชอปครั้งนี้เหมือนถูกปลุกพลังขึ้นมา เป็นการกระตุ้นจิตวิญญาณของตัวเองให้สู้ ลุยตามหาความฝันตัวเองต่อไป”น.ส.นภัค กล่าว