908 จำนวนผู้เข้าชม |
ข้อมูล : TOYOTA USA
เรียบเรียง : Pitak Boon
ช่วงปลายปีที่แล้ว (2565) รถ TOYOTA Mirai ถูกนำมาวิ่งทดสอบในประเทศไทย บริเวณพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อเป็นการสำรวจความพร้อมในการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับภาคขนส่ง รวมทั้งศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ด้านพื้นฐานโครงสร้างในการนำรถพลังงานทางเลือกรูปแบบ FCEV (Fuel Cell Electric Vehicle) หรือรถเซลล์เชื้อเพลิง มาสร้างทางเลือกเพิ่มเติมนอกเหนือจากยานยนต์ไฟฟ้า BEV (Battery Electric Vehicle) ที่แม้จะได้รับการตอบรับเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจากผู้ใช้รถ แต่ยังมีข้อจำกัดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจสร้างความไม่สะดวกในการใช้งาน นั่นคือเรื่อง ระยะเวลาในการชาร์จที่ต้องรอ ซึ่งต่างกับการเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในรถ FCEV ที่ใช้เวลาไม่แตกต่างจากการเติมน้ำมันเชื้อเพลิง
ตลาดหลักของ TOYOTA Mirai อยู่ในสหรัฐอเมริกา มีสถานีเติมไฮโดรเจนพร้อมรองรับรถกลุ่มนี้ในหลายรัฐ เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงไม่ได้จำกัดการใช้งานเฉพาะรถยนต์นั่ง แต่ถูกใช้สำหรับรถในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ด้วยเช่นกัน รถบรรทุกในอนาคตหากจะรอพึ่งพาเฉพาะเทคโนโลยี BEV เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ยั่งยืน นั่นเพราะบรรดารถบรรทุก รถหัวลาก ต้องใช้พลังงานมหาศาลในการขับเคลื่อน จึงต้องติดตั้งแบตเตอรี่ความจุสูง (เพิ่มต้นทุน) เมื่อประกอบกับต้องเผื่อเวลาชาร์จพลังงานให้กับแบตลูกใหญ่ ต้องเข้าแถว ต้องรอคิว นั่นสร้างความไม่สะดวกทั้งปวง หากจะใช้รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า กับการขนส่งในระยะทางไกล
สำหรับ TOYOTA Mirai โฉมปัจจุบันที่เข้ามาวิ่งเก็บข้อมูลในบ้านเรา นับเป็นเจเนอเรชันที่ 2 โดย Mirai เจนที่ 1 ใช้รหัสโมเดล JPD10 เปิดตัวในปี 2014 ส่วนเจนที่ 2 ใช้รหัส JPD20 ถูกส่งลงถนนช่วงปลายปี 2020 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับชื่อ Mirai มาจากภาษาญี่ปุ่น หมายถึง Future ในภาษาอังกฤษ ดังนั้น FCEV จึงเป็นยุทธศาสตร์แห่งอนาคตที่ TOYOTA วางไว้ ถัดจากรถ HEV (Hybrid Electric Vehicle) ที่ค่ายนี้บุกเบิกมาก่อนใคร และเมื่อเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลงตัวมากขึ้น (ชาร์จเร็ว, ต่อการชาร์จวิ่งได้ไกล) เราจะได้เห็น BEV จาก TOYOTA เปิดตัวครบทุกเซกเมนต์ด้วยเช่นกัน ในอนาคตอันใกล้ TOYOTA จะมีนับตั้งแต่รถน้ำมัน หรือ ICEV, HEV, PHEV, FCEV และ BEV มาให้ลูกค้าเลือกมากกว่าผู้ผลิตรายอื่น
เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกใช้ผลิตไฟฟ้า ด้วยการเปลี่ยนพลังงานเคมีไปเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งหากเปรียบเทียบกับเจนเนอเรเตอร์ ระบบเซลล์เชื้อเพลิงจะให้ประสิทธิภาพสูงกว่ามาก เพราะเจนเนอเรเตอร์ หรืออุปกรณ์ปั่นไฟ ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานกลไปเป็นพลังงานไฟฟ้า มีการเคลื่อนที่เชิงกลของชิ้นส่วน จึงต้องสูญเสียพลังงานบางส่วนไปกับแรงเสียดทานและความร้อน สำหรับการสร้างไฟฟ้าของเซลล์เชื้อเพลิงเกิดจากปฏิกิริยาทาง ไฟฟ้า-เคมี ระหว่างก๊าซไฮโดรเจน (H2) และก๊าซออกซิเจน (O2) ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายจะเหลือเพียงไฟฟ้า (Electricity) และน้ำ (H2O) เท่านั้น ดังนั้นทุกขั้นตอนของเซลล์เชื้อเพลิง จึงเป็นพลังงานสะอาด (Clean Energy) แบบ 100%
Mirai เจนที่ 2 (JPD20) ได้รับการพัฒนามาไกลมาก เมื่อเทียบดับเจนแรก (JPD10) วัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความสบายในการเดินทาง ตัวถังใหญ่โตขึ้นในทุกมิติ ให้อารมณ์ในการขับขี่และโดยสารไม่แตกต่างจาก LEXUS โดย JPD20 ออกแบบตำแหน่งของอุปกรณ์เซลล์เชื้อเพลิงใหม่หมด ไฮไลท์อยู่ที่การเปลี่ยนมาขับเคลื่อนล้อหลัง ซึ่งให้ฟีลลิ่งและแฮนด์ลิ่งที่เฉียบคมกว่า Mirai เจนแรก (วางเครื่องหน้า ขับเคลื่อนล้อหน้า) ถัดมาเพิ่มถังไฮโดรเจนเป็น 3 ถัง (โฉมแรกใช้ 2 ถัง) ถังใหญ่ ขนาด 64 ลิตร วางในอุโมงค์เพลากลาง, ถังกลาง 52 ลิตร อยู่ใต้เบาะนั่งหลัง และถังเล็กขนาด 25 ลิตร อยู่ใต้ห้องเก็บสัมภาระท้ายรถ
จากนั้นย้ายชุดเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Stack) จากใต้เบาะนั่งคู่หน้า มาไว้บนเพลาหน้า ส่วนแบตเตอรี่ขนาด 1.24 kWh ถูกวางไว้บนเพลาหลัง Mirai เจนที่ 2 จึงให้การกระจายน้ำหนักหน้าและหลังในระดับ 50:50 เซลล์เชื้อเพลิงผลิตกำลังไฟได้ 128 kW/174 PS ขณะที่มอเตอร์ไฟฟ้ามีกำลังสูงสุด 136 kW /182 hp ที่ 6,940 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 300 Nm ที่ 0-3,267 รอบ/นาที อัตราเร่ง 0-96 กม./ชม. ใช้เวลา 9.2 วินาที ความเร็วสูงสุด 175 กม./ชม. และเมื่อเติมไฮโดรเจนเต็มถังจำนวน 141 ลิตร (ใช้เวลาประมาณ 5 นาที) Mirai สามารถเดินทางได้ไกลถึง 572-643 กิโลเมตร (EPA)