เข็มขัดนิรภัยแบบดึงกลับ (Pretensioner Seatbelts) และความจำเป็นในการคาดเข็มขัดนิรภัย

8431 จำนวนผู้เข้าชม  | 

          กฎของนิวตัน กล่าวไว้ว่า ‘แรงกิริยาเท่ากับแรงปฏิกิริยา’ [Action = Reaction] เป็นทฤษฎีเก่าแก่แต่ยังใช้อ้างอิงได้เป็นอย่างดี สำหรับการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์
          ในกรณีเกิดการชนอย่างรุนแรงมาจากทางด้านหน้ารถ ปริมาณแรงมหาศาลที่เกิดขึ้นจากการชน [Action] จะส่งผลให้ผู้โดยสารเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ด้วยระดับของแรงที่ใกล้เคียงกับแรงปะทะที่เกิดขึ้น [Reaction] ซึ่งแรงในระดับนี้ แม้จะคาดเข็มขัดนิรภัยอยู่ เข็มขัดนิรภัยก็ไม่สามารถ ‘รั้ง’ ผู้โดยสารให้ติดอยู่กับเบาะนั่งได้ นั่นหมายความว่า ลำตัว และศีรษะของผู้โดยสารยังสามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้อีกระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นจังหวะที่ ถุงลมนิรภัยพองตัวสวนกลับออกมา อุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างถุงลมนิรภัย ก็สามารถทำให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน
          จึงเป็นที่มาของ ‘เข็มขัดนิรภัยแบบดึงกลับ’ หน้าตาภายนอกยังคงเหมือนเข็มขัดนิรภัยทั่วไปทุกประการ มีการพัฒนามาใช้งานในรถยนต์ 2 รูปแบบ แบบแรกที่ตัวม้วนเก็บเข็มขัดนิรภัย (อยู่ภายในเสา B) จะเชื่อมต่ออยู่กับสายสลิงและกระบอกแก๊ส ข้างหนึ่งของสลิงจะต่ออยู่กับ ‘ลูกสูบ’ ภายในกระบอกแก๊ส ขณะที่อีกข้างหนึ่งต่ออยู่กับ ตัวรอกม้วนเก็บเข็มขัดนิรภัย

          การจุดระเบิดของกระบอกแก๊ส จะเกิดขึ้นก่อนการจุดระเบิดของถุงลมนิรภัยเล็กน้อย (ใช้เซ็นเซอร์ร่วมกัน) เมื่อเกิดการจุดระเบิดขึ้น แก๊สจะขยายตัวแล้วไปดันลูกสูบ การเคลื่อนที่ของลูกสูบจากแรงระเบิดของแก๊สจะไป ดึงสายสลิงที่เชื่อมต่ออยู่กับตัวรอกม้วนเก็บเข็มขัดนิรภัย

          แบบที่สอง ติดตั้งชุดกระบอกแก๊สไว้ที่ ‘ตัวล็อคและปลดล็อคเข็มขัดนิรภัย’ บริเวณด้านข้างเบาะนั่ง ซึ่งใช้หลักการทำงานที่ไม่แตกต่างกัน
          เข็มขัดนิรภัยจึงม้วนกลับและสามารถ ‘ดึงกลับ’ รั้งผู้โดยสารให้ติดแน่นอยู่กับเบาะนั่งได้ เมื่อผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปแล้ว (และหมดแรงระเบิดของแก๊สแล้ว) กลไกของเข็มขัดนิรภัยจะผ่อนแรงดึงลง เพื่อไม่ให้ผู้โดยสารได้รับการรัดที่แน่นมากเกินไป


          หลายคนยอม ‘คาดเข็มขัดนิรภัย’ เพียงเพราะกลัวโดนตำรวจจับ อยากให้รีบเปลี่ยนความคิดเช่นนี้โดยด่วนครับ
          เพราะหลาย ๆ เคสของการเกิดอุบัติเหตุ แม้อุปกรณ์ความปลอดภัยในรถระดับจัดเต็ม ผู้ขับและผู้โดยสารก็อาจได้รับบาดเจ็บสาหัส จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากไม่ยอมคาดเข็มขัดนิรภัย เพราะอะไร?
          เข็มขัดนิรภัย ทำหน้าที่ ยึดเราให้ติดอยู่กับเบาะนั่ง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ปลอดภัยสูงสุด ขณะถุงลมนิรภัยระเบิดออกมา [เมื่อรถเกิดการชนอย่างรุนแรงมาจากทางด้านหน้า] เมื่อคุณไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ตำแหน่งในการปะทะของร่างกายกับถุงลมจึงไม่สามารถระบุได้แน่นอน บางคนนิ้วหัก แขนหัก ไม่จนถึงคอหัก เมื่อร่างกายกระแทกเข้ากับถุงลม ในตำแหน่งที่ผิดเพี้ยนไป

          คาดเข็มขัดนิรภัย ทำให้เป็นนิสัย จากนั้นสอนเด็ก ๆ สอนลูก สอนหลาน ไม่มีใครรู้ว่าอุบัติเหตุมันจะเกิดขึ้นตอนไหน บนถนนอุบัติเหตุเกิดได้ทุกวินาที เตรียมพร้อมไว้ก่อนด้วยการคาดเข็มขัดนิรภัย [ในทุกตำแหน่ง] ทุกครั้งที่ขึ้นรถ ไม่มีอะไรที่ยุ่งยากเลยครับ

 

 

ภาพ และ ภาพยนตร์ : Renault ,Volvo, Mercedes-Benz และ Honda
เรื่อง : Pitak Boon


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้