รถต้นแบบ “Concept IAA” จาก Mercedes-Benz โชว์ความเหนือ เรื่องแอร์โรไดนามิค

2058 จำนวนผู้เข้าชม  | 



          Mercedes-Benz เผยโฉมรถต้นแบบที่ใช้แสดงแสนยานุภาพด้านแอร์โร่ไดนามิค ในชื่อรุ่น IAA ซึ่งย่อมาจาก “Intelligent Aerodynamic Automobile” รถต้นแบบ IAA เป็นประหนึ่งรถ 2 คัน ภายในคันเดียว กระทั่งได้รับฉายา Digital Transformer สามารถแปลงร่างจาก Design Mode ที่เน้นความล้ำหน้าทางการออกแบบ ไปเป็น Aerodynamic Mode ซึ่งให้ความสำคัญกับความลื่นไหลในการแหวกม่านอากาศ ขณะรถใช้ความเร็วแบบจัดเต็ม

 

          รถต้นแบบ IAA เป็นรถคูเป้ 4 ประตู ใช้ดีไซน์สไตล์อวกาศ ดูล้ำยุคหลุดโลก หน้ารถยาว ท้ายรถตัดสั้น ส่วนหน้าสุดของ IAA ถูกเรียกว่า Shark Nose สื่อสารถึงการพุ่งทะยานไปข้างหน้าเหมือนจมูกฉลาม ตัวถังมาพร้อมความยาวที่ปรับเปลี่ยนได้ระหว่าง 5.04-5.43 เมตร เรื่องดีไซน์ทั้งภายนอก และภายในห้องโดยสาร เน้นความสะอาดและความบริสุทธิ์ทางสายตา ปราศจากชิ้นส่วนแอร์โร่ไดนามิคมาให้ดูรกรุงรัง เฉกเช่นรถต้นแบบที่สร้างจากแนวคิดเดียวกันนี้หลายๆ รุ่นในอดีต


          IAA จะใช้ตัวถังในรูปแบบ Design Mode เมื่อใช้ความเร็วต่ำกว่า 80 กม./ชม. และจะปรับเปลี่ยนเข้าสู่ Aerodynamic Mode โดยอัตโนมัติ เมื่อความเร็วสูงกว่าระดับดังกล่าว การแปลงร่างเริ่มต้นที่ Front Flaps หรือครีบแนวตั้งที่มุมกันชนหน้า ก่อนถึงแนวอุโมงค์ล้อ จะเลื่อนออกมา 25 มิลลิเมตร และขยับถอยหลังไปอีก 20 มิลลิเมตร เพื่อลดแรงลมปะทะล้อหน้า สเต็ปต่อมา ครีบหน้าต่างช่องรับลมที่ด้านหลังครีบกระจังหน้า จะขยับปิด (Adjustable Radiator Grille Shutter) เพื่อลดกระแสลมเข้าไปสะสมในตัวถัง จากนั้น Spoiler Lip ใต้กันชนหน้า เลื่อนกลับเข้าไป 60 มิลลิเมตร เปิดโอกาสให้มวลลมไหลผ่านเข้าไปในส่วนใต้ท้องรถที่ถูกซีลปิดเรียบร้อย ไประบายลมทิ้งที่ส่วนท้ายรถผ่าน ‘ชุดดิฟฟิวเซอร์’ ได้อย่างรวดเร็ว

 

          ฝาครอบล้อ Active Rims ถูกออกแบบให้ทำงานด้วยแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ ชุดกลไกตัวแผ่นปิดและก้านล้อ สามารถขยับจากตำแหน่งลึก 55 มิลลิเมตร มาที่ 0 มิลลิเมตรได้ เพื่อลดการสะสมรวมทั้งแรงต้านของลม ปิดท้ายด้วยท่อนหางท้ายรถ ถูกออกแบบให้แยกเป็น 8 ชิ้น (Boat Tail) จะยื่นออกมาสูงสุด 390 มิลลิเมตร เพื่อให้รูปทรงตัวถังของ IAA มีลักษณะคล้าย “รูปทรงหยดน้ำผ่าครึ่ง” ซึ่งตามทฤษฎีจะลู่ลมมากที่สุด

 

          เมื่อ Design Mode ถูกปรับเปลี่ยนไปสู่ Aerodynamic Mode จะทำให้ตัวเลขแรงต้านทางอากาศ หรือ Cd. (Drag Coefficient) ของ IAA ที่ต่ำอยู่แล้วในระดับ 0.25 ขยับลดมาเหลือเพียง 0.19 เท่านั้น ตัวเลขระดับนี้ส่งผล IAA กลายเป็นรถ 4 ประตู ที่ลู่ลมที่สุดในโลก

 

           ตัวถังรถต้นแบบ IAA เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เพราะไม่ได้มีจุดแข็งเฉพาะเรื่องดีไซน์ แต่ยังได้คะแนนเต็มในส่วนงานวิศวกรรม ในขั้นตอนนี้ทีมพัฒนาได้ ‘อัลกอลิทึม’ เวอร์ชั่นใหม่ เป็นผู้ช่วยในการคำนวณผ่าน “แบบจำลองทางคณิตศาสตร์” เพื่อจำลองการไหลของอากาศเคลื่อนที่ผ่านตัวถัง ทั้งด้านบน, ด้านล่าง และด้านข้าง ทั้งใน Design Mode และ Aerodynamic Mode ด้วยตัวแปรที่แตกต่างกัน 300 รูปแบบ กับชั่วโมงการทำงานของคอมพิวเตอร์ถึง 1 ล้านชั่วโมง (CPU Hours) เพื่อให้ IAA เป็นโมเดลนำร่องสำหรับรถยนต์ Mercedes-Benz รุ่นใหม่ในอนาคต

 

 

ภาพ : Daimler AG
เรียบเรียง : Pitak Boon

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้