1096 จำนวนผู้เข้าชม |
“โคเอ็นไซม์คิว-10 ” ชื่อที่คุ้นเคยกันในผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงาม ซึ่งมีการนำคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยชะลอวัย ลดเลือดริ้วรอย ขณะเดียวกันนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญมีความหวังที่จะนำสารตัวนี้มาใช้ลดความเสี่ยงและรักษาโรคหัวใจด้วยในอนาคต ซึ่งโรคนี้ถือเป็นมัจจุราชร้ายในลำดับต้น ๆ ของเมืองไทย สมาคมโคเอ็นไซม์คิว-10 นานาชาติ ร่วมกับ บริษัท ฟาร์มา นอร์ด เอส.อี.เอ. จำกัด ได้จัดประชุมหัวข้อ “กระบวนทัศน์ใหม่..สู่ความก้าวหน้าในการรักษาโรคหัวใจ?” มีบุคลากรทางการแพทย์เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน
นพ.ถาวร สุทธิไชยากุล นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานพิธีเปิดงานประชุมวิชาการนานาชาติ หัวข้อ “กระบวนทัศน์ใหม่ .. สู่ความก้าวหน้าในการรักษาโรคหัวใจ?” (New Cardiology treatment-a shift of Paradigm? A Breakthrough in Cardiology?) ซึ่งมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านโคเอ็นไซม์คิว-10 หลายท่านร่วมให้ความรู้ประกอบด้วย ศ.พลาซิโด นาวาส จากสเปน, นพ.ปีเตอร์ แลงส์เจน จากสหรัฐฯ,ศ.แฟรงเคลิน โรเซนเฟลท์ จากออสเตรเลียและ ศ.เออร์บาน อเลฮาเกน จากสวีเดน โดยมี พญ.คุณหญิง มัลลิกา วรรณไกรโรจน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจและหลอดเลือดเป็นผู้ดำเนินการบรรยาย
พญ.คุณหญิง มัลลิกา เปิดเผยว่า โคเอ็นไซม์คิว-10 ได้ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์และการดูแลรักษาสุขภาพมายาวนานในนานาประเทศทั่วโลก ในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยโคเอ็นไซม์คิว-10 เป็นสารคล้ายวิตามินที่ละลายได้ดีในไขมัน จัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบในทุกเซลล์ของสิ่งมีชีวิต การนำมาใช้ประโยชน์ในปัจจุบันจึงมุ่งใช้ช่วยชะลอวัยและใช้ลดเลือนริ้วรอยขณะเดียวกันการที่สารโคเอ็นไซม์คิว-10 ทำหน้าที่สำคัญคือ สร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย จึงกลายเป็นสารจำเป็น เพราะหากร่างกายขาดสารชนิดนี้ไปจะส่งผลทำให้ร่างกายขาดพลังงาน จึงจำเป็นต่ออวัยวะที่ต้องทำงานอย่างหนักตลอดเวลา หรืออวัยวะที่ต้องใช้พลังงานสูงอย่างมาก เช่น หัวใจ ตับ หรือไต เป็นต้น
ศาสตราจารย์พลาซิโด นาวาส จากประเทศสเปน เปิดเผยว่า นักวิจัยทำการศึกษาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า โคเอ็นไซม์คิว-10 ซึ่งเป็นสารคล้ายวิตามิน สามารถลดการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้ถึง 43% โดยใช้เพิ่มเติมเข้าไปในการรักษาโรคหัวใจล้มเหลวนอกจากนี้ยังมีการศึกษาอื่น ๆ ที่ให้ผลคล้ายกัน ทำให้เห็นได้ว่า สารอาหารที่มีความจำเป็นชนิดนี้มีศักยภาพที่จะเป็นกลยุทธ์ทางการรักษาใหม่เพื่อที่จะลดการเสียชีวิต เพิ่มคุณภาพชีวิตและลดการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
สำหรับแพทย์โรคหัวใจ นอกจากรักษาผู้ป่วยแล้ว ภารกิจสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การติดตามพัฒนา ความรู้ ความก้าวหน้าทางการรักษาโรคหัวใจให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งยาที่ใช้รักษาโรคหัวใจแบบเดิม ๆ ที่มีมานานหลายทศวรรษ ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งกระบวนการทำงานในระดับเซลล์และเป็นที่ทราบกันว่า ยังมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นจากการใช้ยา
“แต่สารอย่างโคเอ็นไซม์คิว-10 มีความปลอดภัยและปราศจากผลข้างเคียงใด ๆ สามารถที่จะเติมเต็มภาวะขาดแคลนโคเอ็นไซม์คิว-10 ในร่างกายและปรับปรุงกระบวนการทำงานทางชีวภาพ ช่วยให้แรงบีบตัวของหัวใจที่ขาดแคลนพลังงานสามารถทำงานได้ดีขึ้น โดยผลจากการวิจัยพบว่า การใช้สารที่เป็นธรรมชาตินี้สามารถที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวให้ดีขึ้นได้อย่างน้อย 1 ระดับหรือมากกว่านั้น โดยการวัดด้วยเกณฑ์ NYHA classes “
“สิ่งหนึ่งที่สนับสนุนให้นำโคเอ็นไซม์คิว-10 มาใช้เพื่อเป็นความหวังใหม่ทางการรักษา เนื่องจากสารชนิดนี้เป็นสารที่อยู่ในกระบวนการทางชีวเคมีตามธรรมชาติของร่างกายมนุษย์อยู่แล้ว มันไม่ได้มาจากสารสังเคราะห์ขึ้นใหม่ แต่เป็นสารที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อใช้ในการทำงานของเซลล์ทุกเซลล์ในภาวะปกติ และเป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า โดยเฉพาะเซลล์กล้ามเนื้อของหัวใจนั้นต้องอาศัยสารตัวนี้ในการสร้างพลังงานเพื่อการทำงานของหัวใจที่สมบูรณ์ จากผลการศึกษาต่าง ๆ ที่ใช้โคเอ็นไซม์คิว-10 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพบว่า โคเอ็นไซม์คิว-10 อาจสามารถใช้เพิ่มเข้าไปในการรักษาและมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย แม้จะใช้ต่อเนื่องเป็นระยะนาน”
“ยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมมากกว่านี้ ก่อนที่จะพิจารณาให้ใช้โคเอ็นไซม์คิว-10 เพียงอย่างเดียวในการรักษาโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรังและน่าสนใจว่าการใช้ยาแบบรักษาทั่วไปในปัจจุบันร่วมกับการใช้สารที่เป็นธรรมชาติ จะทำให้เกิดการรักษาที่ดีขึ้นอย่างไรในอนาคต นอกจากนี้ โคเอ็นไซม์คิว-10 ยังส่งผลดีต่อผู้รับประทานยาลดไขมันกลุ่ม statin ด้วย เนื่องจากยากลุ่มนี้จะไปรบกวนการสร้างโคเอ็นไซม์คิว-10 ของร่างกาย ทำให้มีสารนี้ลดลงจนส่งผลกระทบต่อร่างกาย ดังนั้นการเสริมโคเอ็นไซม์คิว-10 จึงช่วยลดผลข้างเคียงจากยาที่มีผลต่อระบบกล้ามเนื้อได้” ศาสตราจารย์พลาซิโด นาวาส กล่าว
พญ.คุณหญิง มัลลิกา กล่าวตอนท้ายว่า “โคเอ็นไซม์คิว-10 เป็นสารที่ร่างกายของคนเราผลิตเองได้ แต่ผลิตได้น้อยลงเมื่ออายุมากขึ้นจึงต้องมีการเสริม ซึ่งในไทยที่นำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นโคเอ็นไซม์คิว-10 ที่ได้มาจากธรรมชาติโดยการหมักยีสต์ และมีการนำมาใช้เสริมการรักษาตามโรงพยาบาลต่าง ๆ อยู่แล้ว”
ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า จะมีผลการศึกษาใดมาช่วยสนับสนุนให้ “โคเอ็นไซม์คิว-10″ ถูกยกระดับในการนำมารักษาโรคหัวใจอย่างเป็นทางการในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ โดยปัจจุบันโรคนี้ถือเป็นมัจจุราชร้ายที่คร่าชีวิตผู้ป่วยลำดับต้น ๆ ของไทย