1733 จำนวนผู้เข้าชม |
Huracán เป็นซูเปอร์คาร์น้องเล็กจากค่าย LAMBO เปิดตัวออกมาด้วยรุ่น LP610-4 ก่อนที่จะถูกต่อยอดไปที่เวอร์ชั่นพิเศษรุ่นอื่น ๆ กระทั่งล่าสุดมาถึง Huracán Performante ที่เปิดตัวไปในงาน Geneva Motor Show ที่ผ่านมา และการมาครั้งนี้ สร้างความน่าสนใจ ด้วยตัวเลขเวลาต่อรอบ 6:52:01 นาที ณ สนามแข่ง Nürburgring Nordschleife ในเยอรมัน สนามแข่งที่รถสมรรถสูงทุกรุ่น ต้องเข้าไปวิ่งพิสูจน์ความสมบูรณ์แบบของตัวเอง และ Huracán Performante ได้เป็นเจ้าของสถิติโปรดักชั่นคาร์ที่เร็วที่สุด ของสนามแข่งแห่งนี้ไปเป็นที่เรียบร้อย
หัวใจแห่งความแรงของ Huracán Performante มาจาก 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ เครื่องยนต์ที่ทรงพลังขึ้น น้ำหนักตัวที่ลดลงร่วม 40 กิโลกรัม ปิดท้ายด้วย ระบบแอร์โร่ไดนามิคขั้นเทพ ซึ่งใช้ชื่อระบบว่า ‘ALA’ (Aerodinamica Lamborghini Attiva) จัดเป็น Active Aerodynamics หรือแอร์โร่ไดนามิคที่สามารถปรับเปลี่ยนระดับในการสร้าง ‘แรงกด’ บนตัวถังได้ตามความเร็ว ทว่าไฮไลท์ของระบบ ‘ALA’ นั้นอยู่ที่ฟังก์ชั่น Aero Vectoring ใช้หลักการเดียวกับการบังคับเลี้ยวของอากาศยาน เพื่อควบคุมให้ Huracán Performante เข้าโค้งในความเร็วสูงได้นิ่ง และมั่นคง ซึ่งนั่นเป็นตัวแปรสำคัญ ให้การเข้าโค้ง และทะยานออกจากโค้ง ทำได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว
ระบบ ‘ALA’ บนตัวถังของ Huracán Performante มี 2 ส่วน ส่วนแรกเป็น ‘Front Active Spoiler’ ติดตั้งอยู่บริเวณช่องรับลมใต้กันชนหน้า อุปกรณ์ชิ้นนี้ภายในจะมีชุด ‘Flap’ เปิด-ปิด ทำงานด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อให้ลมเคลื่อนที่ผ่านได้อย่างสะดวก หรือ ปรับทิศทางลดความคล่องตัวในการเคลื่อนที่ของลม เป็นการเปลี่ยนแรงต้านของลม ไปเป็น ‘แรงกด’ ที่กระทำกับท่อนหน้าของรถ
ขณะที่ด้านหลัง ใช้ชื่อ ‘Rear Active Wing’ มองภายนอก จะเป็นปีกหลังคาร์บอนไฟเบอร์ชิ้นใหญ่ แต่ภายในมีรายละเอียดซ่อนเอาไว้ นับตั้งแต่ตัวฐานที่อยู่ติดกับตัวถัง เชื่อมโยงมาจนถึง Stands และตัวปีก ที่ตัวฐานจะมีช่องรับลม ทั้งฝั่งซ้าย และฝั่งขวา ภายในช่องรับลมติดตั้งชุด ‘Flaps’ ที่บังคับ เปิด-ปิด ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเช่นเดียวกัน
ขณะระบบ ‘ALA System OFF’ ชุด ‘Flaps’ ปิดสนิท จะมีเฉพาะแรงลมกระทำกับพื้นที่ด้านบนของปีกหลัง แรงนั้นเป็น ‘แรงกดท้าย’ เช่นเดียวกับสปอยเลอร์หลังทั่วไป เมื่อ ‘ALA System ON’ ชุด ‘Flaps’ จะเปิดสุด มวลลมบางส่วน ถูกส่งเข้าไปยังใต้ปีกหลัง เป็นการสร้างสมดุลระหว่าง ‘แรงกด’ (Down Force) กับ ‘แรงยก’ (Lift Force) ที่กระทำกับตัวปีก เมื่อแรงกดลดลง (แรงต้านอากาศลดลง) ตัวรถจึงแหวกม่านอากาศได้ลื่นไหลยิ่งขึ้น
ระบบ ALA ทั้งด้านหน้าและด้านหลังถูกควบคุมด้วยสมองกล LPI (Lamborghini’s Piattaforma Inerziale) ใช้เวลาในการประมวลผล พร้อมสั่งให้ชุด ‘Flaps’ ตอบสนอง ด้วยเวลาสั้นๆ เพียง 0.5 วินาที ‘ALA System ON’ ถูกใช้เมื่อตัวถังของ Huracán Performante ต้องการลดแรงต้านอากาศ เช่นขณะทำท็อปสปีด สำหรับ ‘ALA System OFF’ จะถูกใช้ขณะรถชะลอความเร็ว หรือเบรก ซึ่งในสภาพนี้ จะสร้างแรงกดกระทำกับตัวถังได้สูงกว่า Huracán เวอร์ชั่นมาตรฐานประมาณ 7.5 เท่า
ปิดท้ายระบบ ALA ด้วยฟังก์ชั่น Aero Vectoring ถูกใช้งานขณะ Huracán Performante เข้าโค้งด้วยความเร็วสูง รูปแบบนี้ ชุด ‘Flaps’ ที่ปีกหลังจะแยกกันทำงาน Flap ตัวที่อยู่ด้านในโค้งจะ ‘ปิด’ แรงกดกระทำที่ปีกด้านในโค้งมาเต็ม ขณะที่ Flap ตัวที่อยู่ด้านนอกโค้งจะ ‘เปิด’ แรงกดที่กระทำกับปีกด้านนอกโค้งจึงน้อยกว่าด้านในโค้ง เป็นหลักการเดียวกับระบบ Torque Vectoring ซึ่งช่วยให้รถเข้าโค้งได้อย่างมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
เรื่องการทำให้ตัวถังรถเบา เป็นงานถนัดของค่าย LAMBO สำหรับโครงสร้างของ Huracán ถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของโครงสร้างไฮบริด เป็นอะลูมีเนียมกับคาร์บอนไฟเบอร์อยู่แล้ว โดยเฉพาะ know-how ในการผลิตชิ้นส่วนคาร์บอนไฟเบอร์ที่ค่ายนี้อยู่ในระดับผู้นำ สูตรหลักๆ การลดน้ำหนัก จึงเป็นการเพิ่มสัดส่วนของคาร์บอนไฟเบอร์ให้มากยิ่งขึ้น อาทิ ชุดสปอยเลอร์หน้าและหลัง, ฝากระโปรงหลัง, กันชนหลัง และชุดดิฟฟิวเซอร์ขนาดใหญ่ที่กว้างเต็มพื้นที่ด้านท้ายรถ ปิดท้ายด้วยการใช้ล้อ Forced ขนาด 20 นิ้ว ที่เบายิ่งขึ้น ผลลัพธ์คือน้ำหนัก Huracán Performante ลดเหลือเพียง 1,382 กิโลกรัม
รหัส LP610-4 ใน Huracán เวอร์ชั่นเริ่มต้น หมายถึงพละกำลัง 610 hp พร้อมระบบขับเคลื่อนแบบ AWD ใช้เครื่องยนต์ V10 DOHC ปริมาตรกระบอกสูบ 5.2 ลิตร เครื่องยนต์แบบตัว V วางทำมุมกัน 90 องศา ช่วยลดความสูงของเครื่องลง (และลดความสูงของตัวรถ) เพื่อให้ได้จุดศูนย์ถ่วงของรถทั้งคันที่ต่ำ เมื่อให้ความสำคัญกับความสูงของเครื่องยนต์เป็นพิเศษ จึงเลือกใช้ระบบหล่อลื่นแบบ Dry Sump แบบเดียวกับรถแข่ง ส่วนระบบหล่อเย็นใช้น้ำหล่อเย็นหมุนเวียนในระบบ และระบายความร้อนผ่านหม้อน้ำ 2 ตัว ที่ติดตั้งทั้ง 2 ฝั่ง ด้านหน้ารถ
ระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นแบบผสมผสานระหว่าง Direct กับ Indirect Injection ใช้ชื่อระบบว่า IDS+MPI Dual Injection การป้อนอากาศเข้าสู่ห้องเผาไหม้ ใช้ระบบวาล์วแปรผัน (Variable Valve Timing) ทั้งฝั่งไอดีและไอเสีย วาล์วทั้ง 40 ตัว จึงสามารถปรับเปลี่ยนองศาการทำงาน (Timing) ให้เหมาะสมกับรอบเครื่องยนต์ได้มากที่สุด
การโมเครื่องยนต์ หลัก ๆ ของ Huracán Performante คือการปรับแต่งในเรื่องของ Engine Fluid Dynamics เป็นการทำให้ไอดีและไอเสีย ไหลเข้าและไหลออกจากห้องเผาไหม้ได้ลื่นไหลมากที่สุด นั่นเป็นที่มาของพละกำลัง 640 hp ที่ 8,000 รอบ/นาที แรงบิดสุงสุด 600 Nm ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดกว่า 70% มีมาให้เรียกใช้งานตั้งแต่รอบเครื่องต่ำเพียง 1,000 รอบ/นาที
โดยแรงม้าและแรงบิดจะมาผ่านเกียร์คลัตช์คู่ 7 สปีด ก่อนส่งลงสู่ผิวถนนผ่านล้อทั้งสี่ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ 2.9 วินาที กดคันเร่งต่อผ่านหลัก 200 กม./ชม. ใช้เวลา 8.9 วินาที กระทั่งถึงความเร็วสูงสุดที่กว่า 325 กม./ชม. แม้ Huracán Performante จะมีฝีเท้าจัดจ้านขึ้น แต่ปล่อย CO2 เพียง 314 กรัม/กิโลเมตร และผ่านมาตรฐานควบคุมมลพิษระดับ Euro 6 เช่นเดิม
ภาพและภาพยนตร์ : Automobili Lamborghini S.p.A.
เรียบเรียง : Pitak Boon