1412 จำนวนผู้เข้าชม |
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จับมือ “ไทยไฟท์” เวทีแข่งขันทัวร์นาเมนท์มวยไทยชื่อดังระดับโลก ผุดหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการกีฬา สื่อ และบันเทิง (Master of Business Administration in Sport, Media and Entertainment Management) ครั้งแรกของสถาบันการศึกษาไทย ในการควบรวมองค์ความรู้ด้านวิชาการเข้ากับภาคธุรกิจที่มีประสบการณ์จริง รองรับการเติบโตของกีฬามวยไทยในเชิงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry)
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจที่ผสมผสานศาสตร์ด้านการจัดการกีฬา สื่อ และบันเทิงเข้าด้วยกัน มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมการเสพสื่อและการเข้าถึงช่องทางต่าง ๆ ในการรับชม อันเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยหนึ่งในชนิดกีฬาที่ถูกนำมาผนวกเข้ากับธุรกิจสื่อและบันเทิง และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในคนไทยและชาวต่างชาติ คือ “มวยไทย” ที่ทุกวันนี้มีการจัดแข่งขันและเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ ในรูปแบบที่ให้อรรถรสมากกว่าแมทช์การแข่งขันทั่วไป ทำให้มูลค่าของอุตสาหกรรมกีฬามวยไทยในเชิงสร้างสรรค์เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้น เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ สจล. ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นวิชาการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศและบริการสังคม จึงร่วมกับ บริษัท ไทยไฟท์ จํากัด ผู้จัดเวทีแข่งขันมวยไทยระดับโลก พัฒนาหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการกีฬา สื่อ และบันเทิง (Master of Business Administration in Sport, Media and Entertainment Management) เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีความรู้และความเข้าใจ ในการบริหารจัดการธุรกิจที่ผสมผสานศาสตร์ทั้งสองเข้าด้วยกัน ให้ผู้เรียนมีความเป็นเลิศทั้งในด้านการบริหารธุรกิจกีฬา และมีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมการออกแบบ สามารถเลือกใช้สื่อและรูปแบบความบันเทิง เป็นเครื่องมือสนับสนุนการจัดการกีฬาให้ประสบความสำเร็จ
“หากศึกษามูลค่าการแข่งขันกีฬาแมทช์ดังระดับโลกจะพบว่า ทุกการแข่งขันล้วนมีการผนวกศาสตร์ด้านสื่อและบันเทิงเข้าด้วยกัน โดยผลการสำรวจมูลค่ารายการแข่งขันกีฬาระดับโลกที่แพงที่สุดในปี 2016 (Most Valuable Sport Event Worldwide in 2016) โดย statista.com พบว่า การแข่งขัน “ซูเปอร์โบว์ล” (Super Bowl) มีมูลค่าสูงถึง 630 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 20,790 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นรายการแข่งขันที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก เมื่อหันกลับมามองโอกาสในประเทศไทย ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่าปัจจุบันมูลค่าอุตสาหกรรมกีฬาไทย อยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท และมีโนวโน้มเติบโตเป็น 2 แสนล้านบาทในเร็ว ๆ นี้ ขณะที่มูลค่าอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงไทยมีแนวโน้มเติบโต แตะ 4.32 แสนล้านบาท ในปี 2564 ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงโอกาสในการสร้างเม็ดเงินจากธุรกิจดังกล่าว ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ตามแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจไทย 4.0 ของรัฐบาล” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.อำนวย แสงโนรี คณบดีคณะการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า จุดเด่นของหลักสูตรนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นจากเป็นความร่วมมือ ระหว่าง สจล. กับ ไทยไฟท์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของสถาบันการศึกษาไทย ในการเปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการกีฬา สื่อ และบันเทิง ร่วมกับผู้ประกอบการหรือภาคธุรกิจที่เป็นผู้นำ ในด้านการจัดแข่งขันทัวร์นาเมนท์มวยไทยระดับโลกเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้ผู้เรียนมีศักยภาพด้านการคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ การค้นคว้าวิจัยและประยุกต์ใช้แนวทฤษฎีด้านการจัดการและบริหารธุรกิจทั่วไป ควบคู่ไปกับแนวทฤษฎีด้านการจัดการและบริหารธุรกิจกีฬา สื่อ และบันเทิง ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านรูปแบบการจัดแผนการเรียนการสอนออกเป็น 39 หน่วยกิต แบ่งเป็น
1.หมวดวิชาปรับพื้นฐาน ได้แก่ หลักการบัญชี, หลักเศรษฐศาสตร์
2.หมวดวิชาบังคับ ได้แก่ การจัดการกีฬา สื่อ และบันเทิง, การจัดการองค์การและทรัพยากรมนุษย์, การเงินและการบัญชีบริหาร, กฎหมายกีฬาและจริยธรรม
3.หมวดวิชาเลือก ได้แก่ การจัดการนวัตกรรมกีฬา, กิจกรรมทางการตลาดและการผลิตสื่อกีฬา, การจัดการอัตลักษณ์ในธุรกิจกีฬา, การแพร่ภาพสื่อดิจิทัล เป็นต้น พร้อมกับหมวดวิชาวิทยานิพนธ์ และหมวดวิชาการค้นคว้าอิสระ
ความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา ระหว่าง สจล. และ ไทยไฟท์ ถือเป็นก้าวสำคัญในการควบรวมองค์ความรู้ด้านวิชาการ เข้ากับภาคธุรกิจที่มีประสบการณ์ในด้านกีฬา สื่อ และบันเทิง ซึ่งนอกจากนักศึกษาจะได้เรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญตัวจริงแล้ว ยังมีโอกาสได้สัมผัสรูปแบบการจัดการกีฬาสู่ระดับสากลด้วย โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน ส.ค. ปี 2559 ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามความร่วมมือในการจัดตั้ง KMITL Thai Fight Academy of Sports and Media Management ในการพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการประสานงานและสนับสนุนการศึกษา สำหรับนักศึกษาด้านกีฬาและสื่อบันเทิงไทยให้เป็นเลิศ เนื่องจากได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างและพัฒนาบุคลากร ทั้งทางการกีฬาของไทยและนักธุรกิจนักสื่อสารที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดศักยภาพและความสำเร็จอย่างมีคุณภาพทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ”
นายนพพร วาทิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยไฟท์ จํากัด กล่าวเสริมว่า การจัดตั้งสถาบัน Thai Fight Academy มีเจตนารมณ์นำเอาการศึกษา, นวัตกรรม, วัฒนธรรม และกีฬา มาผนวกเข้าด้วยกัน ด้วยวัตถุประสงค์ต้องการผลิตบุคลากร เพื่อมาบริหารจัดการทางด้านกีฬาอย่างมีคุณภาพ รวมถึงการผลิตบุคลากร ให้มีความรู้ความสามารถในการสร้างแบรนด์ขององค์กร ให้เป็นที่รู้จักและให้เป็นที่ยอมรับต่อวงการ ดังนั้น การสร้างแบรนด์ให้มีคุณค่า ถือเป็นสิ่งใหม่ของวงการศึกษา เพราะในยุคไทยแลนด์ 4.0 แบรนด์ที่มีคุณภาพย่อมพาองค์กรสู่ความสำเร็จได้ การที่ Thai Fight ประสบความสำเร็จสามารถสร้างแบนรด์เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จนกลายเป็นแบรนด์ชาติ เพราะการบริหารจัดการด้านมาร์เก็ตติ้งและการจัดการด้านสื่ออย่างถูกวิธี ดังนั้น ผู้เข้ารับการศึกษาจะได้เรียนรู้แนวคิดในการสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง รู้จักการทำมาร์เก็ตติ้ง รู้จักการใช้สื่ออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างมูลค่าในการหารายได้ และมีอีกสิ่งหนึ่งที่เราอยากให้ผู้เข้ารับการศึกษาได้เรียนรู้ควบคู่ไปด้วยกันกับหลักสูตรการบริหารการจัดการ ก็คือ ให้รู้จักและเข้าใจกับคำว่า “Sportsmanship” หรือ “น้ำใจนักกีฬา” เพื่อที่จะได้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพต่อสังคมอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการกีฬา สื่อ และบันเทิง (Master of Business Administration in Sport, Media and Entertainment Management) จะเปิดรับสมัครนักศึกษารุ่นแรกในวันที่ 15 กันยายน-15 พฤศจิกายน 2560 และจะเริ่มเปิดสอนนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2560 ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2560