8568 จำนวนผู้เข้าชม |
สวีเดน เป็นประเทศกลุ่มนอร์ดิก ตั้งอยู่บนคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย ในยุโรปเหนือ มีขนาดพื้นที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศประกอบด้วยป่าไม้ และภูเขาสูง นอกจากนี้สวีเดนยังเป็นประเทศต้นกำเนิดของรถยนต์ วอลโว่ VOLVO และเป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ปลอดภัยมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
ประเทศนี้มีเมืองหลวงชื่อ 'สตอกโฮล์ม' และเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศสวีเดน ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลทิศตะวันออกของประเทศเป็นเมืองศูนย์กลางในการค้าขายแลกเปลี่ยน เป็นเมืองเก่าแก่และมีความสวยงาม "มาดามลอย" ได้มีโอกาสไปเที่ยวจากการเชิญของ บริษัท วอลโว่ ทรัคส์ ประเทศไทย ในการเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองสตอกโฮล์ม จึงอยากมาเล่าสู่กันฟัง
สถานที่แรกที่มาสตอกโฮล์ม และต้องไปเยือนคือ พิพิธภัณฑ์วาซา หรือ Vasamuseet (Vasa Museum) ที่เก็บเรือรบวาซา VASA นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวคู่บ้านคู่เมืองของสตอกโฮล์มก็ว่าได้ ลักษณะของพิพิธภัณฑ์เหมือนเป็นการนำเรือโบราณมาจอดไว้แล้วจึงสร้างอาคารครอบลงไปอีกที เพราะมีเสากระโดงเรือโผล่พ้นยื่นจากหลังคาอาคารขึ้นมา 3 เสา
เมื่อก้าวย่างเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ จะพบเรือวาซาอยู่กลางห้องโถง ลำใหญ่มาก เห็นแล้วตะลึงไปชั่วขณะหนึ่ง 555 และโชคดีที่นี้มีไกด์คนไทย อธิบายเรื่องราวให้เราฟังว่า เรือวาซา เป็นเรือรบหลวงของสวีเดน สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1626 และเสร็จในปี ค.ศ. 1628 ในสมัยของกษัตริย์สตาฟที่ 2 ของสวีเดน (Gustav II Adolf) ในช่วงสงครามบอลติก ระหว่างเดนมาร์ก-รัสเซีย และโปแลนด์ ใช้เวลาในการสร้าง 2 ปี
กษัตริย์สตาฟที่ 2 ทรงสร้างเรือวาซาเพื่อจะให้เป็นเรือรบที่ยิ่งใหญ่ ทรงอานุภาพ และสวยงามที่สุดในเวลานั้น ตัวเรือทำจากไม้โอ๊ค 1,000 กว่าต้น ใช้คนงานในการก่อสร้างประมาณ 400 คน นายช่าง 2 คน เรือรบหลวงวาซา ปัจจุบันมีอายุรวม 389 ปี เรือลำนี้สูง 69 เมตร ยาว 61 เมตร กว้าง 11.7 เมตร หนัก 1,210 ตัน เวลาแล่นจะใช้กระแสลมในการแล่น กางใบเรือเต็มที่ทั้งหมด 10 ใบ มีช่องที่ใช้วางปืนใหญ่ทั้งหมด 64 กระบอก ปัจจุบันปืนใหญ่ของจริงเหลือแค่ 3 กระบอกเท่านั้น
สาเหตุที่เหลือ 3 กระบอก ไกด์คนไทยเล่าให้ฟังว่า หลังจมไปได้ 30 ปี ก็มีพ่อค้าชาวเยอรมนี มาขอซื้อปืนใหญ่เลยทำการกู้เอาปืนใหญ่ขึ้นมาเพราะไม่เสียหายอะไร พอกู้เรือรบลำนี้ขึ้นมาจึงเหลือปืนใหญ่ของจริงเพียงแค่ 3 กระบอกเท่านั้น
ช่องใส่ปืนใหญ่
ปืนใหญ่ที่เหลืออยู่ 3 กระบอก
หัวเรือแกะสลักเป็นรูปสิงห์ มีความยาว 4 เมตร และน้ำหนักถึง 450 กิโลกรัม ถือเป็นสัญลักษณ์แทนกษัตริย์สตาฟ ที่ 2 ของสวีเดน และยังมีงานแกะสลักขนาดใหญ่ตราแผ่นดินที่ใช้ประดับด้านท้ายเรือด้วยสีสันที่สดใส นอกจากนี้ ยังมีการตกแต่งประดับประดาด้วยรูปแกะสลักนับร้อยชิ้น ทำให้เรือ วาซา เป็นทรัพย์สมบัติทางศิลปะที่โดดเด่นและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
หัวเรือแกะสลักเป็นรูปสิงห์
ตราแผ่นดินที่ใช้ประดับด้านท้ายเรือ
ไกด์เล่าต่อว่า วันที่เรือออกจากท่า เป็นวันที่ท้องฟ้าโปร่ง มีลมพัดเบา ๆ ประชาชนแห่มาชมกันมากมาย เพราะเป็นเรือรบหลวงสร้างใหม่และลำใหญ่ ที่สำคัญเป็นเรือรบที่มีปืนใหญ่มากที่สุดในยุคนั้น วันแรกที่แล่นมีลูกเรือเพียงแค่ 100 คน พอออกเดินทางได้เพียง 1,300 เมตร ประมาณ 10 นาที มีลมพัดมาเรือก็เริ่มเอียงและจมลง ซึ่งปกติแล้วเรือทั่วไป ถ้าเจอลมก็จะเอียงซ้ายที ขวาที ไปมา แต่เรือนรบลำนี้เอียงทางเดียวและจมลงเลยอย่างรวดเร็ว
จำลองลักษณะเรือกำลังจม
ภาพจำลองประชาชนที่มายืนเดินดูตกใจเมื่อเรือล่ม
สาเหตุที่เรือจม ไกด์คนไทยบอกว่าเกิดจากเหตุ 2 ประการ คือ อย่างแรกโครงสร้างผิดปกติ จะเห็นว่าเรือรบลำนี้สูงเป็นเปรตเลย 69 เมตร แต่ความกว้างมันแคบเพียงแค่ 11.7 เมตรเท่านั้น นี่คือการสร้างเรือที่ผิดปกติ เพราะการสร้างเรือทั่วไปจะไม่ให้สูงมากแต่มีความกว้างเยอะ ๆ
ประการต่อมานายช่างคำนวณน้ำหนักผิด นายช่างบอกเรือรบลำนี้จะบรรทุกน้ำหนักได้ 1,210 ตัน หรือ 1,210,000 กิโลกรัม น้ำหนักนี้รวมนายทหารเรือ 300 คน ลูกเรือ 145 คน ปืนใหญ่ 64 กระบอก กระสุน น้ำ อาหาร เฟอร์นิเจอร์ ข้าวของ-เครื่องใช้ แต่วันที่เรือแล่นออกจากท่า ปรากฏว่าทหารเรือ 300 คนยังไม่ลงเรือ เพราะทหารเรือ 300 คนไปรออีกท่าหนึ่ง เพื่อให้เรือไปรับ เรือยังไม่ทันไปรับก็จมลงเสียก่อน และในวันนั้นมีลูกเรือเพียงแค่ 100 คนเท่านั้น อีก 45 คนรอขึ้นพร้อมทหารเรืออีกฝั่งหนึ่ง ...โชคดีของทหารเรือและลูกเรือ 45 คน รอดตายแบบหวุดหวิด
สีสันของรูปแกะสลักก่อนเรือล่ม
เรือรบหลวงวาซาก่อนจม
สีที่ใช้ในยุคนั้น
ไกด์เล่าติดตลกว่า เขาเปรียบเรือเหมือนเพศหญิง โดยเฉพาะเรือใหม่ที่ยังไม่เคยใช้งานมาก่อนเลย จะเหมือนหญิงสาวบริสุทธิ์ เรียกว่า การนำเอาเรือรบหลวงวาซามาใช้งานก็เหมือนการอันเชิญหญิงสาวบริสุทธิ์มาใช้งาน พอจะเปิดบริสุทธิ์ก็มาร่มปากอ่าว ก็เลยมีคนสงสัยกันว่าคำว่า “ลมปากอ่าว” น่าจะมาจากสวีเดนนี่เอง 55555
สำหรับการกู้เรือนั้นเกิดขึ้นเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมานี่เอง หลังจากเรือรบหลวงวาซาจมอยู่ในน้ำถึง 333 ปี มีนักวิชาการท่านหนึ่งชื่อว่า อันเดส สนใจประวัติเรือรบหลวงวาซา และพยายามหาจุดที่เรือจม สุดท้ายก็หาเจอก็แจ้งให้ทางราชการทราบ ทางราชการก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจสภาพเรือปรากฏว่าเรืออยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ 95 %
วิธีการกู้ก็ใช้ลวดสลิงเส้นใหญ่ พาดผ่านใต้ท้องเรือจากซ้ายไปขวา ขวามาซ้ายเสร็จก็ส่งนักประดาน้ำไปเก็บข้าวของมาก่อน คำนวณน้ำหนักได้แล้วก็สาวลวดขึ้นมาทีละนิด ไม่สามารถทำครั้งเดียวให้พ้นน้ำได้ เนื่องจากเรือจมในโคลนมาหลายร้อยปีจะแตกสลาย วิธีการสาวลวดจะทำทีละนิดแล้วหยุด เรียกว่ายกหนึ่งระดับ เสร็จแล้วก็ส่งนักประดาน้ำลงไปลงไปเก็บข้าวของมาอีก และก็คำนวณน้ำหนักครั้งที่สอง เรียกว่าการยกระดับครั้งที่สอง เขาทำแบบนี้เรื่อย ๆ ทั้งหมด 16 ครั้ง หรือ 16 ระดับด้วยกันใช้เวลากู้ทั้งหมด 4 ปี
สิ่งของที่ค้นพบบนเรือ
สำหรับค่าใช้จ่ายในการกู้ไม่มีใครกล้าคำนวณ เนื่องจากว่ากองทัพเรือ กับบริษัทที่ช่วยกู้จำชื่อไม่ได้ช่วยฟรี และบริษัทนี้ก็ไม่มีแล้ว เพราะช่วยจนบริษัทเจ๊ง น่าสงสารบริษัทนี้ม๊ากกก ...ไม่น่าช่วยเลย
เรือรบหลวงวาซา มีทั้งหมด 5 ชั้น ชั้นล่างสุดไว้ก้อนหิน เพื่อให้เรือมันหนัก ถ้าเรือเบามันจะคว่ำ ชั้น 2 ไว้อาหาร น้ำจืด เหล้า ไวน์ เบียร์ ชั้น 3 เป็นที่อยู่ของลูกเรือ มีทั้งหมด 145 คน ชั้น 4 และ ชั้น 5 เป็นที่อยู่ของทหารเรือและที่วางปืนใหญ่ 64 กระบอก ห้องซ้ายมือ จะเป็นห้องกัปตันเรือ และคนชั้นผู้ใหญ่ และในเรือรบทุกลำจะมีบาทหลวง 1 รูป ถ้ามีการตายเกิดขึ้น บาทหลวงจะเป็นผู้สวดศพ ส่งวิญญาณ และทิ้งศพลงทะเลเลยไม่เก็บศพไว้เข้าฝั่ง เนื่องจากไม่ทราบว่าจะได้กลับฝั่งเมื่อไร เรือรบหลวงวาซา ถ้าไม่จมลงก็จะมีชีวิตของผู้คนบนเรือแบบนี้
ภาพจำลองแต่ละชั้น
บาทหลวงกำลังทำพิธีสวดมนต์คนที่เสียชีวิต
ด้านหัวเรือที่อยู่ของกัปตันเรือ
หม้อใบนี้ใบเดียวที่เลี้ยงคนทั้งเรือ
เรื่องราวของเรือรบหลวงวาซาถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์สวีเดน ซึ่งใครไปเยือนสตอกโฮล์ม ไม่ควรพลาดกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
เรื่อง-ภาพ : มาดามลอย