รถก็ซิ่ง ทิ้งกรูได้ไง !!! วิธีดูแล “รถแต่ง” อยากถูกต้อง ลดพัง ลดเสียตังค์

6686 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เรื่อง : Retro_Sky


สวัสดีเดือนแห่งความรักครับ อากาศก็พิกลๆ ยังไงไม่รู้ เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาวเดี๋ยวฝนมา ลำพังไอ้คนก็จะป่วย ก็ต้องรักษาสุขภาพกันหน่อย แต่ว่าเราก็อย่าลืม “รักษารถ” ด้วยนะครับ

ใช้มันอย่างเดียวไม่เหลียวแล อายุจะสั้นก่อนวัยอันควร บางคนอาจจะขี้เกียจ หรือ คิดว่า “เปลือง” ปล่อยๆ ทิ้งๆ รถมันก็วิ่งได้นี่หว่า “เอาไว้ก่อน” ท้ายสุด ไม่บำรุงรักษารถมันก็ “พัง” คราวนี้ก็เสียตังค์กันชุดใหญ่ เขาเรียกว่า “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” ไม่สนว่าเป็นรถยี่ห้ออะไร เทพแค่ไหน ใช้กระหน่ำทิ้งๆ ขว้างๆ ก็ “เจริญพวง” ล่ะครับ โดยเฉพาะพวก “รถซิ่ง รถแต่ง รถโมดิฟาย” ที่เพิ่มสมรรถนะทั้งหลาย ทำมาแล้วก็ต้อง “เหนี่ยว” กันหน่อยซิ เครื่องยนต์ ช่วงล่าง ทุกอย่าง มันทำงานหนักกว่าเดิมหลายเท่า เพราะฉะนั้น เราจะต้อง “เพิ่มการดูแลให้มากและบ่อยขึ้น” และใช้ของดีๆ เพื่อที่จะรักษารถที่เราอุตส่าห์ทำลงไปตั้งเยอะตั้งแยะให้อยู่กับเราได้นานๆ แล้วจะทำยังไงล่ะครับ...

หมั่นดูสิ่งที่สังเกตได้ก่อน

โดยปกติ ถ้าเราเป็น User ก็จะต้องสังเกตและตรวจสอบในสิ่งพื้นฐานให้เป็น เพราะของพวกนี้มันเป็นจุดเริ่มต้นในการ “ฟ้องปัญหา” ที่เกิดขึ้นด้านในเครื่องยนต์ เริ่มเลยแล้วกัน...

เริ่มกันจาก “น้ำหล่อเย็น” หรือ น้ำหม้อน้ำ จะต้องอยู่ในระดับปกติ (คงไม่ต้องสอนแล้วนะ) ถ้าน้ำ “หาย” ไปเร็วผิดปกติ แสดงว่ามีจุด “รั่ว” ตรงไหนสักที่ ต้องรีบดูเพราะเครื่องแรงๆ ความร้อนสูงเวลา “เหนี่ยว” มันไม่เหมือนเครื่องสแตนดาร์ดเดิมๆ แน่ ถ้าอัดเพลินน้ำรั่วออกหมดล่ะก็ “ฮาสนาน” แต่ถ้าไม่มีอะไรรั่ว ก็ต้องดูอาการต่อไป ที่เจอกันบ่อยๆ คือ “น้ำดัน” อันนี้รถซิ่งรู้กัน เติมน้ำปกติ แต่เวลาอัดแล้วมี “บูสต์เต็ม” โดยเฉพาะสาย “ดีเซล” ที่บูสต์กันหนักหน่วง ถามว่าทำไมน้ำดัน เนื่องจากมีแรงอัดในกระบอกสูบสูงกว่าปกติ มันก็จะรั่วออก “ปะเก็นฝาสูบ” เข้าไปที่โพรงน้ำ มันก็จะดันน้ำทะลักออกทางฝาหม้อน้ำ และ ถังพักน้ำ เลยเกิดปัญหาน้ำขาด ความร้อนขึ้น ถ้าไม่ทันดูก็พังอย่างเดียว นอกจากนี้ ยังต้องดู “ฝาหม้อน้ำ” ถ้ามันเริ่มเก่า ซีลเริ่มแข็งและยุบ ทำให้กักแรงดันไม่อยู่ ดูพวกท่อยางหม้อน้ำต่างๆ บางทีมันอยู่หลังเครื่องมองไม่เห็น ก็ต้องไปอู่ให้ช่างยกรถเช็คดู ยิ่งรถรุ่นใหม่ๆ ท่อน้ำมันเยอะแยะไปหมด สังเกตหม้อน้ำก็อาจจะรั่วได้ตาม “ตะเข็บ” ที่เริ่มหมดอายุ ที่สำคัญ “อย่าลืมใส่น้ำยาหม้อน้ำ” หรือ “คูลแลนท์” ด้วยนะครับ เพราะมันจะช่วยลดอุณหภูมิน้ำ และอีกอย่างก็คือ “ช่วยลดการเกิดสนิมในระบบหล่อเย็น” ตัวมันเองจะมี “น้ำมัน” ช่วยหล่อลื่น ถ้าใส่แต่น้ำอย่างเดียว โอกาสที่จะเกิดสนิมก็เร็วกว่าครับ...

สิ่งต่อมาที่ต้องดูประจำ “น้ำมันเครื่อง” โดยปกติน้ำมันเครื่องจะถูกเผาไหม้ไปกับเครื่องยนต์บ้าง ถ้าเครื่องเดิม รถใช้งานทั่วไปก็ไม่ค่อยรู้สึก แต่ถ้าเป็นรถโมดิฟาย โดยเฉพาะพวกที่ทำไส้ในเพิ่ม ขยายลูกสูบ คว้านเสื้อสูบ พวก Clearance ก็ต้องเพิ่ม แถมยัง “ดันบูสต์หนัก” โอกาสที่น้ำมันเครื่องเล็ดรอด หรือ “ดัน” หรือ “บ้วน” ออกก็มีเยอะขึ้นมาก ก็ต้องเลือกน้ำมันเครื่องให้มีคุณภาพเหมาะกับแรงม้าและแรงตีนของเรา และถ้าพวก “สายโหด” แบบ “เอาไงก็บอก จอดออกก็ได้” ชอบออกตัวแรงๆ สับเกียร์โดดๆ เค้นรอบเยอะๆ แบบ Drag Racing พวกนี้เครื่องยนต์จะทำงานหนักกว่าปกติ ต้องหมั่นเช็คระดับน้ำมันเครื่องกันบ่อยหน่อย เพราะถ้ามันพร่องมากเกินไปโอกาสเครื่องพังจะมาก่อนอย่างอื่นเลย รวมถึงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องให้เร็วขึ้น เพราะถ้ายิ่งซิ่ง น้ำมันเครื่องจะยิ่งร้อน ทำให้เสื่อมสภาพเร็วนั่นแหละเพื่อน...

ส่วนพวกน้ำมันเกียร์ น้ำมันเฟืองท้าย น้ำมันคลัตช์ พวกนี้แหละคนชอบลืม ก็ควรจะจำให้ดีว่าเปลี่ยนครั้งสุดท้ายเมื่อไร และถึงเวลาเปลี่ยนหรือยัง อย่าลืมครับ มันก็คือ “กลไก” ที่ทำให้รถวิ่งได้เหมือนกัน ถ้าลืมอุปกรณ์มันก็พังได้เหมือนกัน ซึ่งก็ไม่ใช่ถูกๆ นะครับ...

สังเกตพวก “รอยรั่ว” ต่างๆ เช่น รอยน้ำมันเครื่องรั่ว จะเป็นกับรถที่มีอายุหน่อย หรือ รถที่รื้อเครื่องออกมาโมดิฟาย แล้วเก็บงานไม่เข้าที่ (บางคันก็ “งานหยาบ” เลยแหละ) มันจะรั่วออกทางพวกซีลต่างๆ ก็ธรรมดาครับ เค้นกันรอบสูงมากๆ บูสต์เยอะๆ มันก็พยายามจะดันออกทุกที่ที่มันดันได้ ก็มองๆ หน่อยครับ ถ้ามีน้ำมันรั่วหยดลงมาที่พื้น ก็ควรจะรีบตรวจสอบก่อนจะบานปลาย...

อื่นๆ ก็สังเกตพวก “ท่อยาง” ต่างๆ ว่ามันบวมหรือยัง เหล็กรัดรัดแน่นตำแหน่งเดิมมั้ย แตกลายงาหรือเปล่า ถ้าสาย “ติดหอย” ก็ดูพวก “เหล็กรัด” ถ้ามันคลาย มันจะ “ห่าง” ออกไม่ใช่ตำแหน่งเดิม พอบูสต์ๆ ไป ท่อหลุด ดับ ยังดีถ้าเป็นพวกท่อน้ำ ท่อน้ำมันหลุดล่ะมึงเอ๊ยยยย เดือดร้อนกว่าแน่...

รถซิ่งสายจอด จอดจนพัง

รถซิ่งสายลุย ก็ต้องดูแลเยอะ แต่อีกกลุ่มก็คือ “รถซิ่งสายจอด” ที่ทำรถมาเพียบๆ ท่วมๆ แรงม้าบึ้มๆ ครั้นจะเอามาขี่ใช้งานทั่วไปทุกวันมันก็คงใช่เรื่อง ไหนจะเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ถนนเมืองไทยก็โคตรจะเหี้ยม รถก็ติด ที่จอดก็หายาก ห่าเหวอะไรมากมาย ก็เลยต้อง “สายจอด” จะออกก็ต่อเมื่อ “มีงาน” พวกนี้ก็จะจอดนานนนนน ขับแป๊บเดียว แล้วก็เอามาจอดนานนนน อาจจะดูว่ารถไม่เสื่อม แต่จริงๆ ไม่ใช่นะ “จอดนานก็เสื่อมเช่นกัน” เพราะอุปกรณ์ต่างๆ มันไม่มีการขยับ ทุกอย่างจะ “ตาย” อยู่กับที่ เอางี้ ถ้าให้คุณนอนนิ่งๆ นานๆ เป็นเดือน ง่อยจะกินไหมล่ะครับ มันก็จะต้อง “ออกกำลังกาย” กันบ้าง เหล่าสายจอดก็มีวิธีปฏิบัติอย่างนี้ครับ...

“ควรขับบ้าง อย่าหวงรถเกินไปนัก” ผมเข้าใจครับ ว่ารถแต่งมาแพงๆ สวยๆ อลังการจนส่วนใหญ่สามารถขึ้นปกนิตยสารรถแต่งชั้นนำของเมืองไทยได้ เจ้าของรถก็ย่อม “หวง” เป็นธรรมดา แน่นอนล่ะ ลงทุนไปเยอะนี่หว่า แต่ว่า ถ้ารถจอดนิ่งสนิทมันก็พังนะครับ จะต้อง “ขับออกกำลังบ้าง” เพื่อให้รถมันได้ทำงาน อุปกรณ์ต่างๆ ได้ขยับ เครื่องจะได้หมุน หยุดนิ่งๆ “ความชื้น” นี่แหละตัวดี ทำให้เกิดสนิม เกิดการกัดกร่อน พวกของเหลวต่างๆ ดองไว้นิ่งๆ ก็เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ ช่วงล่างจะได้ขยับ จอดนิ่งๆ สนิมก็ถามหา ยางก็จะให้หมุนคลึงไปกับถนน จอดนิ่งนานเกินไป ยางจะเสียเพราะเกิด “จุดกดทับ” หรือ Blind Spot วิ่งที่ก็สะท้านตึ้กๆๆๆๆ ก็หาช่วงจังหวะเหมาะๆ ว่างๆ ฝนไม่ตก รถโล่งๆ ไปขับวนๆ หน่อย (จะ ๆ เยอะไปไหน) อย่างน้อยก็ได้บริหาร ได้ชาร์จไฟ รถก็จะมีอายุยืนขึ้นครับ...

สาเหตุที่ให้ “ขับ” เพราะรถมันจะได้วิ่ง หลายคนเลือกที่จะ “ติดเครื่องวอร์มเฉยๆ” ไม่ขับ มันก็จะได้แต่เครื่องไง อย่างอื่นไม่ได้ขยับ การติดเครื่องไว้เฉยๆ มันก็มีข้อเสีย คือ “เขม่าไม่ถูกไล่ออก” รอบเดินเบาส่วนใหญ่ถ้าเป็นเครื่องโมดิฟายเยอะๆ พวกนี้จะ “ส่วนผสมหนา” บางคนติดเครื่องแป๊บเดียวแล้วดับ เครื่องยังไม่ทันร้อนเลย เขม่าก็จะจับภายในฝาสูบ สังเกตว่า เครื่องจะเดินแบบ “ผะอืดผะอม” นั่นแหละควรพาไปออกกำลังกันหน่อย...

ตอนขับก็ “เปิดแอร์” เพื่อให้ลมช่วยระบายบ้าง ไม่ให้แอร์ “เหม็นอับ” ไปขับกลับมาแล้วก็ “ปิดสวิทช์ A/C” เพื่อตัดการทำงานของคอมแอร์ แล้วก็เปิดพัดลมแอร์ (โบล์วเออร์) แรงสุด เพื่อไล่ความชื้นก่อนเก็บรถ จะลดอาการเหม็นอับได้มากทีเดียว...

หากจะต้องขับในช่วงกลางวัน ก็ “เปิดไฟหน้า” หน่อย เพื่อที่จะให้โคมไฟมี “ความร้อน” และ “เผาความชื้น” ที่สะสมด้านในออกไป รถรุ่นใหม่ๆ ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะ “ซีลยังดี” แต่พวกรถรุ่นเก่า รถ Retro ทั้งหลาย ซีลโคมไฟมันมักจะเสื่อม ล้างรถน้ำชอบเข้า พวกจานฉายด้านในมักจะมีสนิม ถ้ามีแค่ไอน้ำบางๆ เปิดไฟช่วยได้ แต่ถ้า “น้ำเข้า” แบบเลี้ยงปลาหางนกยูงได้ ก็ควรจะ “ถอดโคมมาเทน้ำออก” เพราะปล่อยไว้คงไม่ดีแน่...

ถ้ารู้ตัวว่าจะต้องจอดยาวๆ แบบไม่มีกำหนด เช่น เจ้าของจะไปนอกเป็นเวลานาน ที่บ้านไม่มีคนไว้ใจที่จะขับรถคันนี้ได้ ก็ควรจะมี “ตัวช่วย” กันบ้าง เช่น “สูบลมยางเพิ่ม” บวกจากปกติไปประมาณ 5 ปอนด์ เพราะถ้าจอดนานๆ ลมยางจะอ่อนไปเรื่อยๆ จน “แบน” พวกรถซิ่งก็จะใช้ “ยางบาง” ถ้าปล่อยยางแบน แก้มยางจะเสียหายได้ง่ายครับ...

อีกอย่างที่น่าหามาใช้ ก็คือ “ตัวชาร์จแบตรถ” ที่เสียบกับไฟบ้าน รถสมัยใหม่ที่ระบบซับซ้อน ถ้าปล่อยแบตฯ อ่อน ระบบไฟมันชอบรวน จะพ่วงสตาร์ทก็ยุ่งยากในบางรุ่น รถใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะถอดขั้วแบตก็ไม่ได้ เพราะถอดแล้วเดี๋ยวจะมี Error Code อะไรขึ้นมาอีกวุ่นวาย ต้องมี Power Bank เป็น Back Up ระบบไฟไว้ ไหนๆ ก็ชาร์จไฟเลี้ยงแบตฯ ไว้หน่อยจะได้ตัดปัญหาตรงนี้ไป ระบบไฟจะได้ไม่พัง...

ส่วนใหญ่สายจอดจะเน้น “ล้างรถ” ไม่เงากูไม่ยอม ล้างเสร็จแล้วก็จอดสนิทเพราะต้องการ “เก็บ” เป็นปกติครับ รถล้างมาเงาๆ กริ๊บๆ จะเอาออกไปขับเลยก็ยังไงอยู่ โดยเฉพาะหน้าฝนที่โอกาสรถจะเลอะมีมาก คนเก็บรถเขาไม่อยากให้เลอะแน่นอน (ถ้าเลือกได้) แต่ว่า การล้างรถแล้วจอดสนิทเลย บางทีกลับกลายเป็นผลเสียเหมือนกัน เพราะน้ำตามซอกต่างๆ ของตัวรถ บางจุดเราไม่สามารถเป่าให้มันแห้งได้ มันจึงเกิด “ความชื้น” สะสม ถ้ารถเก่าๆ สไตล์ Retro หรือ Classic โอกาสเสี่ยงเป็นสนิมหรือผุสูง เคยได้ยินไหมล่ะ “ล้างจนผุ” พอชื้นๆ อย่างอื่นก็ตามมา เช่น คลัตช์ติด เบรกติด ฯลฯ เอางี้แล้วกัน ปกติแล้วถ้าล้างคาร์แคร์ ล้างเสร็จก็ต้องขับกลับบ้านอันนั้นไม่มีปัญหา เพราะรถวิ่งมันมีลมพัด มีความร้อนสลายความชื้นอยู่แล้ว แต่คนที่ล้างรถเสร็จแล้วจะจอดเก็บเลยทันที แนะนำว่าขับวนๆ ใกล้ๆ สักหน่อย เพื่อให้ไล่ความชื้นออกไป สังเกตดูล้างรถเสร็จ แม้จะเช็ดแห้งแล้วยังไงก็มีน้ำหยดออกมาจากซอกต่างๆ อยู่ดี ต้องระวังครับตรงนี้...

ท้ายสุดก็อยู่ที่ “คน”

ยังไงก็ตาม ท้ายสุดก็อยู่ที่ “คนขับ” ว่าจะรักษารถได้ดีเพียงไร ขับรถกระทืบเอาๆๆๆ ไม่บันยะบันยัง “ห่าอะไรก็พังหมดครับ” ไม่เหลือหรอก การขับรถก็ควรจะรู้เหยียบรู้ผ่อนกันหน่อย จำไว้ว่ารถซิ่งไม่ได้หมายความว่าต้องซิ่งตลอดนะ ซิ่งแค่จำเป็นนิดหน่อยก็พอ ถ้าเสี้ยนมากก็ “ไปสนามแข่ง” จะถูกต้องที่สุด ซัดกันให้เต็มเหนี่ยวก็ไม่มีใครว่า แต่จำไว้ว่า “ความเร็วและความแรง ควบคู่กับความเสียหายและสิ้นเปลืองเสมอ” ตอนขับก็ “หมั่นสังเกต” รอบด้าน เช่น เกจ์วัดต่างๆ ที่ติดมาครึ่งโหลเต็มไปหมด พยายาม “สังเกตค่า” ของมันหน่อย ว่ามีอะไรแจ้งผิดปกติไหม ดูรอบเครื่อง ดูบูสต์ (ถ้ามี) ดูอุณหภูมิ และ แรงดันต่างๆ เดี๋ยวนี้เกจ์ของแท้มันจะมี Warning เตือนแล้ว ติดแล้วก็ดูให้เป็น ไม่ใช่ตอนซัดหน้ามืดกูกระหน่ำอย่างเดียวไม่สนเตี้ยอะไรเลย เวลามีปัญหาก็โทษใครไม่ได้นะ...

จริงๆ อาจจะดูเป็นเรื่องพื้นๆ ง่ายๆ ไปสักหน่อย แต่ไอ้พื้นๆ ที่แหละที่คน “ประมาท” และ “ละเลย” กันเสมอ ก็พยายามสังเกตและเอาใจใส่ไอ้ตัวแรงของเรากันหน่อย อย่างน้อยก็ยืดชีวิตของมันออกไปได้ ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแบบไม่จำเป็น มันไม่มีอะไรยากเลยครับงานนี้ อาจจะเสียเวลาสักหน่อยแต่มันก็คือรถที่คุณรักไม่ใช่เหรอ ??? ก็ขอให้ทุกคนสนุกกับการดูแลรักษารถที่ตัวเองรักนะครับ...


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้