เตรียมพร้อมร่างกายเพื่อดูแลผู้พิการอย่างมีสติด้วยโยคะ

848 จำนวนผู้เข้าชม  | 


  
การดูแลชีวิตคนๆ หนึ่งต้องใช้พลังและความอดทนอย่างมาก โดยเฉพาะคนที่อยู่ในความดูแลนั้นอยู่ในภาวะที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จึงจำเป็นต้องใช้ทั้งความอดทน อดกลั้น และความมีสติในการควบคุมตัวเองไม่ให้ใช้อารมณ์กับเขา  สุขภาพทั้งกายและจิตของผู้ดูแลจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก

โยคะสำหรับครอบครัวผู้พิการเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ต่อยอดจากการฝึกโยคะกับสติ ในโครงการจัดการความรู้และส่งเสริมกิจกรรมทางกายอย่างมีสติ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)   จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ดูแลผู้พิการในบ้านและในศูนย์ช่วยเหลือผู้พิการ ได้เรียนรู้และฝึกท่าบริหารร่างกายจากกระบวนการโยคะ ช่วยในการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ การหายใจ ให้ผู้เรียนมีสุขภาพที่ดี มีสติในการทำหน้าที่ได้มากขึ้น และนำไปปรับใช้เพื่อบำบัดผ่อนคลาย สร้างกล้ามเนื้อ และสมดุลทางร่างกายให้ผู้พิการในความดูแลได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย 
     
การฝึกโยคะหมายถึงการมีสติรู้ตัวอยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย  โดยผู้ฝึกหมั่นคอยสังเกตว่าตนเองกำลังทำอะไร ร่างกายส่วนไหนกำลังเคลื่อนไหว และรู้สึกอย่างไร โดยค่อยๆ ปรับให้เกิดความสมดุลในการทำท่าที่เหมาะและพอดีกับร่างกายของผู้เล่น ซึ่งมีผลทำให้เกิดความสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน 



รสสุคนธ์ ซันจวน หรือครูเก๋ ผู้ฝึกสอนโยคะในโครงการฯ  ให้รายละเอียดว่า  ความสำคัญของโยคะอยู่ที่การรู้จักธรรมชาติร่างกายของตนเองและการเข้าใจหลักการของท่าโยคะต่างๆ แล้วสามารถนำมาปรับเป็นการทำโยคะที่เหมาะสมกับตนเองและได้ประโยชน์ตามจุดมุ่งหมาย โดยอาศัยการมีสติสังเกตความรู้สึกที่เกิดกับร่างกายและจิตใจและคอยปรับให้สมดุล หากมีความเข้าใจเช่นนี้แล้ว จะทำให้ผู้เล่นไม่กังวลกับความสวยงามของท่าและฝึกโยคะอย่างมีความสุข เมื่อต้องไปเล่นกับลูกหรือผู้พิการจะได้เข้าใจว่าขณะทำจะมีความรู้สึกอย่างไร และควรขยับลูกแบบไหนส่วนไหนเนื่องจากร่างกายเด็กผู้พิการมีข้อจำกัด  ท่าโยคะที่สอนส่วนมากเป็นท่าที่ช่วยเหยียดยืดและสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งพ่อแม่ผู้ดูแลต้องเลือกท่าที่เหมาะสมกับลูกไปใช้ เพราะเด็กแต่ละคนมีปัญหาต่างกัน   ไม่ใช่การรักษา แต่ช่วยบรรเทาอาการ เช่น ผู้ที่มีอาการเกร็ง ทำให้กล้ามเนื้อมีอาการยึด การทำโยคะจะช่วยให้คลายลงได้ 



"ท่าโยคะที่เลือกมาสอนเป็นท่าที่ทำได้ง่าย  พ่อแม่หรือผู้ดูแลควรทดลองทำก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าทำแล้วรู้สึกอย่างไร แล้วจึงเลือกไปปรับใช้กับลูกหรือน้องๆ ผู้พิการ โดยคอยสังเกตสีหน้าท่าทางและการตอบสนองของเขาด้วย  เพราะเขาสื่อสารออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ และต้องปรับท่าให้เหมาะกับเขา" ครูเก๋ กล่าว 
ครูเก๋ ซึ่งจบหลักสูตรโยคะสำหรับเด็กพิเศษ และโยคะเพื่อการบำบัดโดยเฉพาะ ของสหรัฐ อเมริกาและอินเดีย กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการสอนจะสอนให้ผู้เล่นจัดระเบียบร่างกาย และรู้จักการออกแรง ซึ่งทุกท่าที่สอนจะแฝงการมีสติ เพราะถ้าบอกให้มีสติบางคนไม่เข้าใจ ดูไกลตัวเหมือนธรรมะ จึงไม่ค่อยบอกให้มีสติ แต่คอยแนะให้สังเกตความรู้สึกของร่างกายและจิตใจระหว่างทำท่า

"การฝึกโยคะนี้ผู้ที่ได้ประโยชน์จริงๆ คือ พ่อแม่หรือผู้ดูแล เพราะการดูแลเด็กพิเศษและผู้พิการต้องใช้พลัง ใช้ความอดทนมาก ซึ่งการทำโยคะจะช่วยให้มีพลังทั้งด้านจิตใจและร่างกายที่แข็งแรง ช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด ความปวดเมื่อย อ่อนล้าต่างๆ  เป็นการเตรียมพร้อมร่างกายและจิตในการดูแลเด็กกลุ่มนี้" ครูเก๋ กล่าวปิดท้าย



นางแดง (นามสมมติ) ผู้ปกครองที่เข้าฝึกโยคะซึ่งต้องดูแลลูกสาวผู้พิการทางสมองและการเคลื่อนไหว และเด็กพิเศษที่พ่อแม่นำมาฝากเลี้ยง กล่าวว่า “ดูแลลูกสาวพิการบกพร่องทางสติปัญญาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็นตลอดมากว่า 25 ปี ไม่ค่อยได้ไปไหน และบางครั้งก็จะมีผู้ปกครองเด็กพิเศษคนอื่นนำเด็กมาฝากไว้บ้าง เรื่องออกกำลังกายลืมไปได้เลย บางครั้งก็เครียดและระบายอารมณ์กับลูกหรือคนใกล้ชิดบ้าง สงสารลูก การเรียนโยคะวันนี้รู้สึกสบายตัว แต่ละท่าที่ครูสอนเป็นท่ายืดเหยียดง่ายๆ สามารถทำที่บ้านได้ ตอนเรียนไม่ได้จำชื่อท่าว่ามีอะไรบ้าง แต่ทำแล้วรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย เพราะปกติไม่มีเวลาออกกำลังกายจริงจัง  แค่ดูแลลูกที่พิการก็เหนื่อยแล้ว วันนี้ได้แนวคิดหลักการที่ถูกต้องจะกลับไปทำที่บ้านและปรับใช้กับลูกให้เขาได้เล่นได้ยืดเหยียดบ้าง และการฝึกให้มีสติช่วยให้เรายับยั้งชั่งใจได้ ไม่เผลอแสดงความหงุดหงิด ตอบโต้ หรือระบายความเครียดกับคนรอบตัว  ทำให้มีความสุขทั้งบ้าน"

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้