565 จำนวนผู้เข้าชม |
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยในการนำผลงานที่มีคุณภาพและมีศักยภาพด้านการวิจัยและด้านการประดิษฐ์คิดค้น เข้าร่วมแสดงนิทรรศการและประกวดผลงานในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งที่ผ่านมา วช. ได้นำนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยไปคว้ารางวัลเกียรติยศจาก 2 เวที ได้แก่
1) งาน “46th International Exhibition of Inventions Geneva” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 15 เมษายน 2561 ณ Palexpo นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เป็นเวทีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสวิสฯ อาทิ The Swiss Federal Government of the State และ The City of Geneva และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลกหรือ WIPO (The World Intellectual Property Organization) วช. ได้นำผลงานของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วมประกวด จำนวน 99 ผลงาน จาก 29 หน่วยงาน ซึ่งภายในงานมีหน่วยงานจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมกว่า 50 ประเทศ และมีผลงานเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงกว่า 1,000 ผลงาน และเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ผลงานของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัลสำคัญของงาน ได้แก่ รางวัล Prix De La Ville De Geneva จำนวน 1 รางวัล จากผลงานเรื่อง “โปรแกรสำหรับจับคู่การเดินทางร่วมกันแบบอัตโนมัติ ทางรถยนต์และรถแท๊กซี่ ด้วยฐานเวลาปัจจุบัน” ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ และคณะแห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้คณะนักวิจัย นักประดิษฐ์ไทย ยังได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จำนวน 4 ผลงาน รางวัลเหรียญทอง จำนวน 26 ผลงาน รางวัลเหรียญเงิน จำนวน 32 ผลงาน รางวัลเหรียญทองแดง จำนวน 33 ผลงาน และรางวัลพิเศษ (Special Prize) จากประเทศต่าง ๆ จำนวน 25 รางวัล
2) งาน “8th International Engineering Invention & Innovation Exhibition 2018 (i-ENVEX 2018)” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 15 เมษายน 2561 ณ รัฐเปอร์ลิส สหพันธรัฐมาเลเซีย เป็นเวทีนานาชาติสำหรับเยาวชน โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนจากทั่วโลกมานำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เป็นงานที่จัดขึ้นโดย Universiti Malaysia Perlis (UniMAP) และ ENVEX Young Researcher Club (EYRec) UniMAP, MINDS Chapter และมีผลงานเข้าร่วมจำนวน 500 ผลงาน จากประเทศต่าง ๆ จำนวน 17 ประเทศ
โดย วช. ได้นำผลงานของเยาวชนที่ได้รับรางวัลนักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ ประจำปี 2561 เข้าร่วมประกวดและนำเสนอ จำนวน 12 ผลงาน และได้รับรางวัล International Grand Prize Award จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ผลงาน “ทุ่นผลิตพลังงานไฟฟ้าจากคลื่นทะเลสำหรับอนุรักษ์แนวปะการัง” ของ นายนิติภูมิ แย้มจิตร และคณะ แห่งวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี และรางวัล Double Gold Award จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ผลงาน “หมวกพลังงานสุริยะเพื่อป้องกันการเป็นลมแดด” ของเด็กชายธิปก บวรรัตนารักษ์ และคณะ แห่งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และผลงาน “การพัฒนารูปแบบอักษรเบรลล์ภาษาไทยและภาษาอังกฤษด้วยโปรแกรม FontForge” ของ นายวิเชียร ดอนแรม และคณะ แห่งโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี นอกจากนี้ยังมีผลงานของเยาวชนไทยที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง จำนวน 4 ผลงาน รางวัลเหรียญเงิน จำนวน 5 ผลงาน และรางวัลพิเศษ (Special Prize) จากองค์กร/หน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 13 รางวัล