สกว.โชว์ 4 ผลงานเด่นป.เอกทุนคปก. ด้านสุขภาพ-ยุทโธปกรณ์-สังคมสูงวัย

716 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สกว. โดยโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) เปิดเวทีนำเสนอผลงานของนักศึกษาระดับปริญญาเอก พร้อมโชว์ 4 ผลงานเด่นประจำปี ระบุ คปก.ระยะสอง มุ่งดุษฎีบัณฑิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเทียบเท่าสากล เน้นนวัตกรรมเป็นหลักและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ศ. ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนการวิจัย เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ครั้งที่ 19 “ความท้าทายด้านนวัตกรรมสู่ประเทศไทย 4.0” ณ โรงแรมจอมเทียน ปาล์ม บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งจัดขึ้นโดย โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่รับทุนระดับปริญญาเอกได้นำเสนอรายงานความก้าวหน้า ตลอดจนเป็นเวทีในการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รับฟังข้อเสนอแนะจากนักวิจัยอาวุโสและผู้ทรงคุณวุฒิ อีกทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการทำวิจัยทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 530 คน

ศ. ดร.ยงยุทธกล่าวว่า คปก.กำเนิดจากการมองเห็นว่าการพัฒนาประเทศให้ได้ผลดีควรจะต้องพัฒนา “คน” โดยเฉพาะระดับปริญญาเอกแก่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ด้วยมุ่งหวังให้ประเทศไทยผลิตดุษฎีบัณฑิตได้เพียงพอและส่งไปทำงานในต่างประเทศได้ในที่สุด ในฐานะที่เคยเป็นผู้ประเมินโครงการ คปก. รู้สึกดีใจที่ คปก. มีความก้าวหน้าในการผลิตคนที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเทียบเท่าสากล คนที่จบการศึกษาไปสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่าไม่แพ้คนที่จบจากต่างประเทศ ข้อดีของการเป็นนักศึกษา คปก. คือรู้เรื่องในประเทศไทยดี แต่ก็ไม่ทิ้งความเป็นสากลจากการไปทำวิจัยในต่างประเทศด้วย จึงเป็นโครงการที่ดีและควรให้การสนับสนุนต่อไป สำหรับ คปก. ระยะสองนั้น ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เผยว่า จะเน้นที่นวัตกรรมเป็นหลักและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งร้อยละ 87 อยู่ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขณะที่ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์แม้ว่าจะเป็นส่วนน้อย แต่ก็หวังให้สามารถเข้าไปแก้ปัญหาสังคมได้

ด้าน ศ. ดร.ศุภศร วนิชเวชารุ่งเรือง ผู้อำนวยการ คปก. ระบุว่า จากนี้ไป คปก.จะเชื่อมโยงนวัตกรรมมากขึ้น จากความต้องการกำลังคนด้านการวิจัยของของประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้จะดึงนักศึกษาที่มีขีดความสามารถสูงในประเทศเพื่อนบ้านมารับทุน คปก. อาเซียน และสร้างนวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชน รวมถึงเชื่อมโยงให้เกิดความเข้มแข็งทางวิชาการแก่หน่วยงานภาครัฐกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ด้วยทุน คปก.เพื่อหน่วยงานรัฐ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนไปด้วยกันทั้งประเทศ

ทั้งนี้ นับแต่การก่อตั้งในปี 2539 คปก. ได้พยายามพิสูจน์ให้โลกเห็นว่านวัตกรรมคือหัวใจของการเติบโตทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมสังคมที่จำเป็นต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการวิจัยในระดับปริญญาเอก โดยถึงวันนี้ คปก. ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่นักศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตไปแล้ว 4,700 ทุน มีผู้สำเร็จการศึกษาเข้าทำงานในภาครัฐและเอกชน 3,289 คน นับว่าทุนดังกล่าวช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางการวิจัยแก่มหาวิทยาลัยไทยเป็นอย่างมาก การประชุมในครั้งนี้เป็นตัวเร่งในการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนสู่การพัฒนาประเทศ สำหรับผลงานวิจัยเด่นของนักศึกษา คปก. ในปีนี้มีทั้งสิ้น 4 ผลงาน ประกอบด้วย

1. การสร้างเซลล์กระดูกอ่อนหลายชั้นโดยใช้พอลิเมอร์ชนิด Poly(N-Isopropylacrylamide- co-acrylamide) กราฟต์บนภาชนะเลี้ยงเซลล์ เพื่อนำไปใช้สำหรับแผลกระดูกอ่อนผิวข้อของมนุษย์ที่ถูกทำลายบางส่วน โดย รศ. ดร.ขวัญชนก พสุวัต และ น.ส.โศภิตา วงศ์อินทร์ นักศึกษา คปก. รุ่นที่ 15 จากภาควิชาวิศวกรรมชีวภาพคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งพัฒนาการวิธีการสร้างเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนที่มีคุณภาพดีขึ้นมาในห้องปฏิบัติการ เพื่อนำไปปลูกถ่ายที่ข้อเข่าของผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม โดยเนื้อเยื่อนี้จะรวมตัวเข้ากับกระดูกอ่อนเดิมของผู้ป่วย และสร้างโปรตีนคอลลาเจนชนิดที่ 2 (โปรตีนหลักในกระดูกอ่อน)และสารล่อลื่นที่สำคัญเพื่อให้เข่าทำงานได้เป็นปกติ จากเดิมที่ใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมเนื้อเยื่อที่ฉีดเซลล์กระดูกอ่อนเข้าไปแต่ไม่สามารถเกาะตรงบริเวณเป้าหมาย

2. การพัฒนาเกราะกันกระสุนสมรรถนะสูงจากพอลิเบนซอกซาซีนคอมพอสิทที่เสริมแรงด้วยเส้นใยชนิดต่างๆ โดย ศ. ดร.ศราวุธ ริมดุสิต และ น.ส.มนัญญา โอฆวิไล นักศึกษา คปก. รุ่นที่ 14 จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพัฒนาเกราะกันกระสุนสมรรถนะสูงต้นแบบ ประเภทพอลิเมอร์คอมพอสิทจากเมตริกประเภทเบนซอกซาซีนอัลลอย เสริมแรงด้วยเส้นใยชนิดต่างๆ ให้มีความสามารถในการป้องกันการเจาะทะลุในระดับ III ตามมาตรฐาน National Institute of Justice (NIJ) ในส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ แผ่นหน้า ทำหน้าที่ทำลายหัวกระสุนและลดพลังงานปะทะแบบขีปนะ ผลิตจากพอลิเบนซอกซาซีนที่เสริมแรงด้วยเส้นใยแก้วชนิดแข็งแรงพิเศษ และแผ่นดูดซับพลังงาน ทำหน้าที่ดูดซับและสลายพลังงานปะทะแบบขีปนะ และจับเศษกระสุนทั้งหมดไว้ ผลิตจากพอลิเบนซอกซาซีน-ยูรีเทนที่เสริมแรงด้วยเส้นใยอะรามิด ผลทดสอบการยิงที่โรงงานวัตถุระเบิดทหาร จังหวัดนครสวรรค์ พบว่าป้องกันการเจาะทะลุได้สูงถึง 6 นัด และมีรอยยุบตัวของดินทดสอบแต่ละนัดไม่เกิน 44 มิลลิเมตร โดยแผ่นเกราะมีความหนาเพียง 27.3 มม. น้ำหนักเกราะรวมทั้งชุดไม่เกิน 6.5 กิโลกรัม และมีต้นทุนวัสดุเพียง 7,000 บาทต่อเซ็ท

3. การย้ายถิ่นระหว่างประเทศของผู้เกษียณอายุชาวตะวันตกมาสู่ประเทศไทย: กระบวนการตัดสินใจความอยู่ดีมีสุข การผสมกลมกลืน และผลกระทบต่อพื้นที่ปลายทาง โดย ศ. ดร.พัชราวลัย วงศ์บุญสิน และ น.ส.กนกวรรณ ตั้งจิตนุสรณ์ นักศึกษา คปก. รุ่นที่ 18 จากภาควิชาประชากรศาสตร์ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษากระบวนการตัดสินใจ ความอยู่ดีมีสุข การผสมกลมกลืนของผู้เกษียณอายุชาวตะวันตกในไทย และผลกระทบต่อไทยทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนสภาพแวดล้อม เป็นการบุกเบิกงานทางวิชาการระดับสากลที่เป็นโมเดลแรกของโลก โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นชาวอเมริกันและอังกฤษ สมรส/คบหาดูใจอยู่กับคนไทยแต่ไม่มีบุตรด้วยกัน อาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ พัทยา อุดรธานี และกรุงเทพฯ ตามลำดับ มองว่าไทยเป็นประเทศในอุดมคติสำหรับการเกษียณอายุ โดยปัจจัยสำคัญคือ ค่าครองชีพ สภาพอากาศ และคนไทย ส่วนปัจจัยทางการแพทย์อยู่ในระดับที่น่าพอใจ

4. การผลิตสีธรรมชาติ: การปรับปรุงสีและความเสถียรโดยใช้กระบวนการเตรียมตัวอย่าง การสกัดและการอบแห้งที่เหมาะสม โดย ศ. ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา และ น.ส.ลักษิกา งามวงศ์ล้ำเลิศ นักศึกษา คปก. รุ่นที่ 18 จากภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่พัฒนาการผลิตสีธรรมชาติแทนการใช้สีสังเคราะห์แบบทั่วไปที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค โดยใช้สีเขียวจากใบบัวบก สีแดงจากฝาง และสีเหลืองจากฟักทอง ด้วยวิธีการทางกายภาพ เช่น การนึ่ง และวิธีการทางเคมี เช่น การสร้างสารประกอบเชิงซ้อนของสารสีธรรมชาติกับแร่ธาตุ การสร้างพันธะระหว่างสารสีธรรมชาติกับสารอินทรีย์ชนิดอื่น เช่น กรดอินทรีย์ เพื่อเพิ่มความเสถียรของสี จากนั้นจึงทดสอบความเสถียรของสีธรรมชาติที่ผลิตได้ในการประกอบอาหารหลากหลายชนิดจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้