654 จำนวนผู้เข้าชม |
เมธีวิจัยอาวุโส สกว. เผยองค์การอนามัยโลกตั้งเป้ากวาดล้างผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบให้เหลือน้อยที่สุดภายในปี พ.ศ. 2573 ระบุไทยต้องมีมาตรการการศึกษาในแนวลึก เร่งตรวจกรองผู้ป่วยเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ดังคำขวัญ ‘ตรวจวินิจฉัยและรักษา’ วันตับอักเสบโลกปีนี้
ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน และเมธีวิจัยอาวุโส สกว. เปิดเผยว่า จากการประชุมขององค์การอนามัยโลก ในปี พ. ศ. 2559 ได้ประกาศการกวาดล้างไวรัสตับอักเสบให้เหลือน้อยที่สุด หรือ elimination ภายในปี พ.ศ. 2573 หรือปี ค.ศ. 2530 โดยมีเป้าหมายทั้งไวรัสตับอักเสบ บี และซี ให้เหลือน้อยที่สุด
ทั้งนี้ ไวรัสตับอักเสบ บี จะต้องลดการติดเชื้อรายใหม่ ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 90 ลดการสูญเสียและการเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับไวรัสตับอักเสบ บี เช่น มะเร็งตับ ตับแข็ง ให้ได้มากกว่าร้อยละ 65 และผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ บี จะต้องได้รับการรักษามากกว่าร้อยละ 80 ส่วนไวรัสตับอักเสบ ซี มีเป้าหมายให้ผู้ที่ติดเชื้อจะต้องได้รับการวินิจฉัยมากกว่าร้อยละ 90 และในจำนวนดังกล่าวจะต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 80 เพราะไวรัสตับอักเสบ ซี สามารถรักษาให้หายขาดได้ภายในเวลา 8-12 สัปดาห์
เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ระบุว่าจากเป้าหมายดังกล่าว ประเทศไทยมีการให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี ในทารกแรกเกิดทุกรายเป็นเวลามากกว่า 25 ปีมาแล้ว และมีการตรวจกรองเลือดในผู้บริจาคโลหิตทุกราย รวมทั้งให้ความรู้กับผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดชนิดฉีด ทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างมาก ดังนั้นเป้าหมายการลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยมากกว่าร้อยละ 90 จึงมีความเป็นไปได้
สำหรับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ บี ที่มีอยู่ในประเทศไทย จะต้องเข้าสู่กระบวนการรักษามากกว่าร้อยละ 80 เพื่อลดอัตราการสูญเสีย หรือเสียชีวิต จากโรคที่เกี่ยวข้องกับไวรัสตับอักเสบ บี ให้ได้ร้อยละ 65 จะต้องมีการตรวจกรอง หาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ บี เพื่อเข้าสู่การรักษา ขณะนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี อยู่ประมาณ 2 ล้านคน อย่างไรก็ตาม การตรวจวินิจฉัยเพื่อเข้าสู่การรักษาจะต้องใช้เงินอีกเป็นจำนวนมาก และกลุ่มเป้าหมายจะเป็นผู้ที่มีอายุเกิน 30 ปีขึ้นไป นโยบายการตรวจกรองหาไวรัสตับอักเสบ บี ในผู้ที่มีอายุเกิน 30 จะต้องเริ่มขึ้นตั้งแต่วันนี้ และในรายที่รู้ว่าเป็น จะต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาก่อนที่จะคุกคามให้เป็นโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับ ผู้ติดเชื้อถ้าได้รับการรักษาได้เร็วที่สุด ผลตามมาในระยะยาวก็ย่อมจะดีกว่าแน่นอน
ขณะที่ไวรัสตับอักเสบ ซี ในประเทศไทยจัดเป็นภัยเงียบ ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อแล้วประมาณ 700,000 ราย ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการอะไรเลย การตรวจวินิจฉัยจึงมีความจำเป็นในการค้นหาผู้ป่วยเพื่อเข้าสู่การรักษาและลดการแพร่กระจายของโรค จากการศึกษาของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการตรวจกรองในระดับชาติและระดับจังหวัดที่มีอุบัติการณ์สูงและอุบัติการติดเชื้อโดยเฉลี่ย พบว่าปัญหาไวรัสตับอักเสบ ซี ที่มีการติดเชื้อไปแล้วส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2526 หรือผู้ที่มีอายุเกิน 35 ปี ดังนั้นเป้าหมายในการตรวจกรองหาไวรัสตับอักเสบ ซี จึงเป็นผู้ที่มีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไปทุกราย และเมื่อตรวจพบจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษา ในปัจจุบันมียาที่ใช้รับประทานในการรักษาให้หายขาดได้ โดยใช้ระยะเวลา 12 สัปดาห์ และในอนาคตอาจจะเหลือเพียง 8 สัปดาห์ ยาที่ใช้รักษาในปัจจุบันมีแนวโน้มถูกลงอย่างมาก องค์การอนามัยโลกจึงเห็นว่าผู้ป่วยทุกรายควรจะเข้าสู่กระบวนการรักษา จะไม่รอให้เป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับ ก่อนแล้วค่อยรักษาอย่างที่ประเทศไทยดำเนินการอยู่นี้
“ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องมีการศึกษาและวางแผนในการตรวจกรองผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ดังคำขวัญขององค์การอนามัยโลกในวันตับอักเสบโลกปีนี้ว่า ‘ตรวจวินิจฉัย และรักษา’ (Test and Treat)” เมธีวิจัยอาวุโส สกว. กล่าวสรุป