576 จำนวนผู้เข้าชม |
“คนไร้บ้าน”สุดเปราะบาง เสี่ยงเจ็บป่วย-อายุสั้นกว่าคนทั่วไป แนะปรับระบบพิสูจน์สิทธิสถานะ จัดระบบคัดกรองสุขภาพมากเป็นพิเศษ เหตุมีความเสี่ยงด้านสุขภาพสูง กระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งต่อคนไร้บ้านเองและคนทั่วไป เช่น อาจเกิดโรคติดต่อขึ้นมาได้
ในเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ประจำปี 2561 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ระบบสุขภาพไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง Leave no one behind” โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของประชากรกลุ่มเปราะบาง ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนไร้บ้านและผู้ไม่มีบัตรประชาชนหรือสถานะทางทะเบียนที่อยู่ตามชุมชนต่างๆในประเทศไทย
นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ นายกสมาคมคนไร้บ้าน กล่าวว่า จากข้อมูลที่ภาครัฐได้สำรวจเมื่อนานมาแล้ว มีคนไร้บ้านจำนวนประมาณ 15,000 คน อยู่ใน กทม.ประมาณ 1,000 คน ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ตามเมืองใหญ่โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวเนื่องจากสัมพันธ์กับการหาเลี้ยงชีพของคนไร้บ้านซึ่งส่วนใหญ่ทำอาชีพเก็บขยะขาย
นายสุชิน กล่าวอีกว่า คนไร้บ้านเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนไทยและรู้ว่าตัวเองมีสิทธิเข้ารับบริการในโรงพยาบาลของรัฐได้ แต่ปัญหาคือไม่มีบัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวเอง เช่น หนีออกจากบ้าน ทำบัตรหาย เมื่อไม่มีบัตรไปแสดงกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจึงถูกเข้าใจว่าเป็นคนต่างด้าว หรือหากรับบริการได้ก็ต้องผ่านกระบวนการสังคมสงเคราะห์
“นอกจากคนไร้บ้านแล้ว อีกกลุ่มที่มีปัญหาคือคนไทยที่อาศัยอยู่ในชุมชนแต่ไม่มีบัตรประชาชนหรือสถานะทางทะเบียน เช่น ครอบครัวแตกแยก พ่อแม่ไปแจ้งเกิดหรือไม่พาไปทำบัตรประชาชน คนกลุ่มนี้ก็มีปัญหาในการเข้าถึงการบริการเช่นกัน” นายสุชิน กล่าว
นายสุชิน เสนอแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวว่า อยากให้มีการสำรวจผู้ที่ไม่มีบัตรประชาชนทั่วประเทศ แล้วมาจัดกลุ่มว่าไม่มีบัตรเพราะอะไร เพราะทำหายหรือบัตรหมออายุแล้วไม่ได้ไปทำบัตรใหม่ หรือเป็นกลุ่มที่ไม่มีบัตรมาตั้งแต่แรกเนื่องจากพ่อแม่ไม่พาไปทำให้
ขณะเดียวกันยังเสนอว่าอยากให้รัฐจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งให้แก่หน่วยบริการสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลคนไร้บ้านหรือคนไม่มีบัตรประชาชน เพื่อไม่ให้หน่วยบริการหรือตัวของแพทย์เองต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาให้ เพราะเท่าที่สัมผัสมา แพทย์ก็พยายามช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ในบางเคสแต่จะให้รับภาระไปตลอดก็คงไม่ไหว
ด้านนายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา ให้ข้อมูลว่า จากการวิจัยพบว่ากลุ่มคนไร้บ้านมีอายุเฉลี่ยน้อยกว่าคนทั่วไป โดยเพศชายมีอายุเฉลี่ย 58 ปี และหญิงอายุ 60 ปี ขณะที่คนทั่วไป เพศชายอายุเฉลี่ย 77 ปี และหญิง 82 ปี นอกจากนี้ยังพบว่าคนไร้บ้านที่พักพิงในศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน (Homeless Shelter) จะมีอายุยืนกว่าคนที่เร่ร่อนอยู่ข้างนอกประมาณ 10 ปี และคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ข้างถนนส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่า และสาเหตุการเสียชีวิตของคนไร้บ้านส่วนใหญ่ก็เป็นการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ
“ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนว่าพื้นที่สาธารณะต่างๆ มีความเสี่ยงทางสุขภาพสูง และชี้ว่าคนไร้บ้านมีความเปราะบางทางด้านสุขภาพอย่างชัดเจน รวมทั้งกลุ่มคนที่ไม่มีบัตรประชาชน ไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพก็เป็นอีกกลุ่มที่มีความเปราะบางยิ่งกว่า”นายอนรรฆ กล่าว
ขณะเดียวกัน จากการลงพื้นที่สำรวจกลุ่มคนไร้บ้านใน จ.เชียงใหม่ ขอนแก่น และ กทม. พบว่าแม้จะมีการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว แต่กลับไม่มีคนไร้บ้านที่เป็นคนต่างด้าว กว่า 99% บอกว่ามีเอกสารแสดงความเป็นคนไทย ในจำนวนนี้ 28% บอกว่าเคยมีบัตรประชาชน ทำให้มีปัญหาในการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล มีเพียง 1% ที่บอกว่าเป็นคนไทยแต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้
“ผลสำรวจทั้ง 3 แห่งมีความคล้ายกันคือ 1.ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้คนไร้บ้านเข้ารับบริการในสถานพยาบาลของรัฐ แต่บางทีถึงอยากไปก็ไปไม่ได้เพราะหมายถึงการขาดรายได้ในวันนั้นๆ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายจากการเดินทางเพิ่มขึ้นอีก และ 2.ระบบหลักประกันสุขภาพมีความสำคัญต่อชีวิตและการตั้งหลักชีวิตอย่างสูง เมื่อคนไร้บ้านมาอาศัยในศูนย์ฟื้นฟูฯและมีหลักประกันสุขภาพ ก็ช่วยให้พัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตขึ้นมาได้” นายอนรรฆ กล่าว
นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา กล่าวอีกว่า ปัญหาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไร้บ้านแบ่งเป็น / ประเด็นคือ 1.ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีสถานะทางทะเบียน 2.ปัญหาการเข้าถึงสิทธิจากการโอนย้ายสิทธิ โดยในกลุ่มที่ไม่มีบัตรประชาชนยังแยกย่อยเป็นกลุ่มที่เคยมีบัตรประชาชน แต่บัตรหาย ถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนบ้าน ขาดคนรับรองสถานะตัวตน และกลุ่มที่มีอาการทางจิตเวชทำให้ไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ และอีกกลุ่มคือคนที่ตกหล่นจริงๆ เช่น พ่อแม่ไม่ไปแจ้งเกิด รวมถึงกลุ่มคนไร้สิทธิที่อาศัยอยู่ในชุมชน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยแสดงตัวยกเว้นกรณีป่วยหนักจริงๆ จนต้องได้รับการช่วยเหลือ
“โจทย์สำคัญคือเราจะสร้างการป้องกัน (Prevention) และการคุ้มครอง (Protection) ให้คนไร้สิทธิ ไร้สถานะทางทะเบียนอย่างไรเพื่อที่จะได้ไม่ต้องป่วยหนักแล้วค่อยแสดงตัว ข้อเสนอของผมมี 3 ประเด็นคือ 1.อยากให้มีแบบแผนการปฏิบัติที่ชัดเจนในการพิสูจน์สิทธิสถานะ 2.ระบบบริการจะออกแบบกลไกอย่างไรให้รองรับกลุ่มคนที่ตกหล่นได้ เพราะเวลาเขามีปัญหาไม่ใช่ปัญหาปัจเจก แต่เป็นปัญหาทางสังคมด้วย เช่น อาจเกิดการแพร่ระบบของโรค เป็นต้น และ 3.เนื่องจากต้นทุนทางสังคมของเขาต่ำ ดังนั้นต้องมีสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมา หรือสอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มคนเปราะบางเพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการได้” นายอนรรฆ กล่าว
ด้าน นพ.สุนทร สุนทรชาติ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อย่าง กทม.มองว่าปัญหาสุขภาพของคนไร้บ้าน เป็นสิ่งที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งต่อคนไร้บ้านเองและคนทั่วไป เช่น อาจเกิดโรคติดต่อขึ้นมาได้ ที่ผ่านมา กทม.ลงทะเบียนคนไร้บ้านได้ประมาณ 1,900 คน และได้จัดสร้าง “บ้านอิ่มใจ” เพื่อเป็นที่พักแก่คนไร้บ้านโดยรองรับผู้หญิงได้ 100 คน และชายอีก 100 คน และเชื่อว่า อปท.อื่นๆ ก็อยากดำเนินการในลักษณะนี้ เพียงแต่กฎหมายไม่เอื้อให้ทำ ดังนั้นถ้ามีการแก้กฎหมายให้อำนาจ อปท. ดำเนินการศูนย์ฟื้นฟูฯได้ เชื่อว่าจะมีคนเข้ามาดูแลคนไร้บ้านมากขึ้น
“ข้อเสนอของผมคืออยากให้การพิสูจน์สถานะตัวตนมีความสะดวกมากขึ้น เพราะเมื่อได้เลข 13 หลักแล้ว การเข้าถึงสิทธิการรักษาก็จะตามมา ขณะเดียวกัน ในส่วนของการคัดกรองโรค คนไร้บ้านควรได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าคนทั่วไปในช่วงอายุเดียวกัน เพราะเขามีความเสี่ยงด้านสุขภาพสูง จึงจำเป็นต้องป้องกันก่อนมาแก้ไขในภายหลัง และอยากฝากเรื่องคนไร้บ้านที่มีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรงเนื่องจากขาดยา ฝากประเด็นให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยดูว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร” นพ.สุนทร กล่าว