ขับ “เกียร์ออโต้” ไม่ให้เป็น “ฆาตกร” เรียนรู้วิธีใช้เกียร์ออโต้ให้ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยและสมรรถนะสูงสุด

16688 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เรื่อง : Retro_Sky

คงได้ข่าวกันมาบ่อยครั้ง ที่ “รถเกียร์ออโต้” มัน “ฆ่าคน” โดนทับ โดนบี้ มันเพราะอะไร เกียร์ออโต้มันมีอำนาจลี้ลับอะไร หรือ “เป็นเพราะคน” ใช้มันไม่ระวังหรือเปล่า ครั้งนี้ มาถึงเรื่องของการขับ “เกียร์ออโต้” กันบ้าง ซึ่งปัจจุบันนี้ เกียร์ออโต้ เรียกว่าแทบจะเป็น “ปัจจัยหลัก” ของการเลือกซื้อรถยนต์กันไปแล้ว ว่าไปสมัยก่อนสัก 20 กว่าปี รถเกียร์ออโต้คนยัง “กลัวๆ” กัน กลัวจะซ่อมแพง อัตราเร่งก็ช้ากว่าเกียร์ธรรมดา รับประทานเชื้อเพลิงเยอะกว่า เพราะเกียร์ออโต้สมัยเก่ายังเป็นแบบ “กลไก” แถมยังมีแค่ 3 จังหวะ ทำให้อัตราเร่งด้อยกว่าเกียร์ธรรมดาที่มีถึง 5 สปีด

คนที่ไม่เคยขับก็ไม่คุ้น จริงๆ มันขับโคตรง่ายเลยนะไอ้เกียร์ออโต้นี่ จะไปก็เร่ง จะหยุดก็เบรก คาคอสะพานก็ไม่ไหล เครื่องก็ไม่ดับ (ถ้าเครื่องปกตินะ) ไม่ต้องกังวลเรื่องเหยียบปล่อยคลัตช์ ซึ่งเหมาะกับคุณผู้หญิงมากๆๆๆๆ รถติดในเมืองก็ไม่เมื่อยตุ้มเหมือนเกียร์ธรรมดา แต่ด้วยความที่คนไทยในยุคนั้น “ไม่ชิน” กับเกียร์ออโต้ เลยยังไม่ค่อยกล้าใช้ ยิ่งมีข่าวคนขับเกียร์ออโต้ไม่เป็น ไม่ระวัง ไปคาเกียร์ในตำแหน่ง D หรือ R ไว้ แล้วดึงเบรกมือลงไปเปิดประตูบ้านบ้างอะไรบ้าง ดึงไม่แน่นพอรถก็ไหลมาทับบี้แบนคาที่ตรงนั้น เลยทำให้คนขยาดไปกันใหญ่...


 

แต่ในสภาวะรถติดมหานรก ณ บัดนาว รถยุคใหม่จึงหันมาผลิตเกียร์ออโต้กันมากขึ้น ซึ่งมีความทันสมัย ตอบสนองฉับไว นุ่มนวล เรียกว่ามันแทบจะอ่านใจคุณออกเลยว่าต้องการอะไร ขับก็สบาย และ “ไม่ได้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงไปกว่าเกียร์ธรรมดา” ก็ไม่แน่ คนขับเกียร์ธรรมดาไม่ถูกจังหวะ มันก็ “แด๊ก” มากกว่าเกียร์ออโต้แน่นอน สมรรถนะก็ดีเยี่ยม อัตราเร่งก็แทบไม่เป็นรองเกียร์ธรรมดาเหมือนกัน ซึ่งอาจจะ “เร็วกว่า” ด้วยซ้ำ เพราะเกียร์เดี๋ยวนี้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ความละเอียดและฉับไวสูงมาควบคุม มันคิดและสั่งการได้เร็วกว่ามนุษย์แน่นอน

ปัจจุบัน รถเกียร์ออโต้ถึงครองเมือง ครองโลก เพราะคุณสมบัติอันดีเด่นของมัน ตอบสนองผู้ใช้งานได้ในวงกว้าง แน่ล่ะ คนซื้อรถก็ต้องอยากได้ความสะดวกสบายเป็นหลัก สมัยก่อนต้องรถหรูราคาหลักล้าน ไปจนถึง “หลายล้าน” ถึงจะมีเกียร์ออโต้ให้ แต่ตอนนี้มียัน ECO Car รถ TAXI ตอนนี้ก็ใช้เกียร์ออโต้กันเกือบหมดประเทศแล้ว เพราะลดความเมื่อยล้าให้โชเฟอร์ได้มาก ยังไม่พอ ลามไปถึง “กระบะหัวเดี่ยว” ที่ใช้ขนของอีกด้วยนะจะบอกให้ !!! เรียกว่ามีทุกระดับประทับใจจริงๆ เพราะฉะนั้น เราควรมาทราบข้อมูลการใช้เกียร์ออโต้แบบ “ถูกวิธี” กันดีกว่า เพื่อเป็นการรักษาเกียร์ไม่ให้กลับบ้านก่อนปีใหม่ ลดค่าซ่อม ยืดอายุการใช้งานออกไป และ ได้ทั้งสมรรถนะและความปลอดภัย เรียกว่าซื้อมาใช้แล้วต้องคุ้มค่าสิคร้าบ...



รถเกียร์ออโต้ “ใส่เกียร์แล้วพุ่งได้” ???

ผมขอหยิบยกประเด็นเรื่องนี้กันสักหน่อย เพราะได้ยินหลายคนพูดแบบนี้ จนเป็น “กระแสลือกันผิดๆ” ระวังนะ “ใส่เกียร์แล้วรถมันจะพุ่งอย่างแรงเลยนะ” ขอโทษนะครับ ถ้าคุณเข้าเกียร์ปกติ ไม่ได้ไปเหยียบเร่งรอบเครื่องสูงรอไว้แบบ “จอดออกก็ได้” แค่เครื่องยนต์รอบเดินเบามันจะทำให้รถพุ่งได้เลยเหรอครับ ??? อย่างเก่งก็แค่ “ไหล” ออกไป ในโลกนี้มีมั้ย ผมอยากได้นะครับไอ้รถเกียร์ออโต้แบบเข้าเกียร์เฉยๆ ไม่ได้เร่งแล้วพุ่งกระจายนี้ จะได้เอาไปแข่ง “ซิ่งทางตรง” กับพ่อ “โทเร็ตโต้” สักหน่อย ความเป็นจริงมันไม่ใช่ ถ้ารถยุคใหม่ๆ ที่มีราคาหน่อย จะมีระบบเซฟตี้ ถ้าเร่งรอบเครื่องเกินกำหนด แม้คุณจะดึงเกียร์เข้าได้ แต่เกียร์ “ไม่ทำงาน” จนกว่ารอบเครื่องจะลดลงเหลือแถวๆ 1,500 รอบ หรือตามที่ผู้ผลิตกำหนด เกียร์ถึงจะทำงาน หลายคนพูดไปทำให้คนกลัว บางคนก็ไม่กล้าใช้เลย แต่ถ้ามองอีกมุม “ก็ดีนะ” สำหรับคนที่ใช้ จะได้มีความรัดกุมมากขึ้นไง...

 

รู้ “ตำแหน่งเกียร์” กันก่อน

ก่อนอื่นเลยครับ เราต้องรู้ก่อน ว่าตำแหน่งเกียร์ที่ปรากฏอยู่ให้เราเห็นนั้น แต่ละตัวมันมีความหมายอย่างไร เพราะแต่ละตำแหน่ง ก็จะมีหน้าที่ของมันอยู่ และมี “ข้อบ่งชี้ในการใช้งาน” ตามสภาวะการขับขี่ จะแบ่งแยกแบบกระชับและเข้าใจง่าย ดังนี้...

 

ตำแหน่ง P

P ย่อมาจาก Parking คือ “ตำแหน่งเกียร์จอด” หมายความว่า จะใช้ตำแหน่งนี้ในการ “จอดนิ่ง” เท่านั้น พอใส่เกียร์ P แล้วมันจะ “ล็อก” รถไม่ให้เลื่อนได้เหมือนกับเราใช้เบรกมือ จะใช้ต่อเมื่อการจอดรถเข้าซอง ที่ไม่ต้องการ “เข็น” และ “ป้องกันรถไหล” การเข้าตำแหน่ง P จะต้องทำต่อเมื่อ “รถหยุดนิ่งสนิทเสมอ” มันไม่ได้ทำหน้าที่เป็น “เบรก” นะครับ บางคนรถยังไม่ทันหยุดสนิทก็เข้า P ซะแล้ว ทำให้เกิดการกระตุกหัวทิ่มหัวตำ และกลไกข้างในเกียร์จะเสียหายได้อย่างรวดเร็ว ได้โปรดอย่าทำ เว้นแต่อยากจะเปลี่ยนเกียร์ไวๆ ตังค์เหลือเยอะแยะจนไม่รู้จะทำอะไรนั่นก็อีกเรื่อง...

อีกประการ ที่เห็นกันบ่อยๆ เวลา “หยุดรถบนท้องถนน” รอไฟเขียว หลายคนก็ใส่เกียร์ P ทุกครั้ง เห็นชัดเลยว่าตอนหยุดรถ “ไฟถอย” จะแว๊บติดขึ้นมา เพราะการเข้า P จะต้องผ่านเกียร์ R หรือ “ถอยหลัง” ก่อนเสมอ จริงๆ แล้วไม่จำเป็นครับ การหยุดรถชั่วคราวเราใส่เกียร์ N ก็พอ เพราะถนนทั่วไปมันก็เรียบรถก็ไม่ไหล ถ้าหยุดรถไม่นานก็เหยียบเบรกเอาไว้ได้ เราไม่จำเป็นต้องใส่ P ก็ได้ครับ เว้นแต่จอดคาคอสะพานนานหน่อยนั่นก็พอได้ แต่แนะนำ “ใช้เบรกมือ” จะดีกว่า...



และประเด็น “ดราม่า” ที่เกิดขึ้นจนแทบจะเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยไปแล้ว ก็คือ “จอดรถขวางแล้วใส่เกียร์ P” อันนี้อาจจะ “เคยมือ” แล้ว “ลืมตัว” จนทำให้เกิดเรื่อง “ไฝว้” กับรถที่คุณไปขวางเขาแล้วออกไม่ได้นั่นน่ะ “ใจเขาใจเราครับ” ถ้าจำเป็นต้องจอดรถขวาง กรุณา “ใส่เกียร์ว่าง” ให้คนอื่นเขาเข็นได้ด้วยนะครับ เดี๋ยวจ “ดังโดยไม่จำเป็น” รถรุ่นใหม่ๆ ที่ไฮเทคหน่อย บางทีการปลดเกียร์ว่างแล้วดับเครื่อง จะดึงกุญแจออกไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วจะต้องมี “การทำตามขั้นตอนคู่มือ” ในการปลดเกียร์ว่าง เพราะบ้านเราไม่เหมือนเมืองนอก มักจะ “รถมากกว่าที่จอด” เลยต้องจอดขวางกัน เพราะฉะนั้น คุณก็ต้องศึกษาตามคู่มือให้ถ่องแท้ จะได้ไม่มีปัญหากันภายหลังครับ...

กรณีการใส่เกียร์ P แล้วจอดรถคาไว้บน “ทางลาดชัน” แนะนำว่า “ควรจะใช้เบรกมือช่วย” เพื่อลดภาระที่จะเกิดขึ้นกับกลไกของเกียร์ ขั้นตอนแรก “เหยียบเบรกให้แน่น” แล้ว “ใช้เบรกมือ” แล้วค่อยเข้าเกียร์ P หลังจากเข้าเกียร์ P ก็ควรจะ “ค่อยๆ ปล่อยเบรกเท้า” ถ้าเข้า P อย่างเดียว ปล่อยเบรกทันทีเลยรถมันจะ “เด้งหน้าเด้งหลัง” กลไกล็อกเกียร์จะสึกหรอไวขึ้น และตอนที่ปลดเกียร์ P จะมีเสียง “กึง” และอาการ “สะดุ้ง” จากการปลดกลไกด้านใน ถ้าทำตามขั้นตอนที่บอกไป อาการนี้จะไม่เกิดครับ และเป็นการ “เซฟตี้สองชั้น” อีกด้วย...

ตำแหน่ง R

R ก็คือ Reverse ก็คือ “ตำแหน่งเกียร์ถอยหลัง” คงไม่ต้องสาธยายกันมาก แต่ก็มีข้อบ่งใช้เหมือนกัน คือ การเข้าเกียร์ R จะต้อง “เหยียบเบรกให้รถหยุดสนิท” ก่อนเท่านั้น เพราะเห็นบ่อยๆ บางทีจาก D ไป R รถยังไม่ทันหยุดนิ่งเลยก็ใส่ซะแล้ว ทำให้เกิดการ “กระชาก” ในห้องเกียร์ ก็คิดเอาว่ามันหมุนเดินหน้าอยู่ดีๆ ไปทำให้มันหมุนถอยหลัง พวกคลัตช์ เฟืองเกียร์ ก็จะเกิดการสึกหรอมาก มันอาจจะไม่เห็นผลในระยะสั้น แต่ยังไงถนอมมันไว้ดีกว่า ใจเย็นๆ แค่รอรถหยุดสนิทมันคงไม่ถึงขั้นขาดใจตายหรอกครับ ส่วนการเปลี่ยนจาก R ไปเกียร์อื่น ก็ต้องเหยียบเบรกให้รถหยุดสนิทก่อนเช่นกัน เพื่อความปลอดภัยในทุกๆ ด้าน...

 

ตำแหน่ง N

N หรือ Neutral คือ “ตำแหน่งเกียร์ว่าง” ที่ “จะไม่มีการขับเคลื่อนใดๆ ทั้งสิ้น” แต่ยังสามารถทำให้เคลื่อนที่ได้ด้วยวิธีอื่น เช่น จากการเข็น ไหล จะไม่ล็อกเหมือนเกียร์ P ตำแหน่ง N จะใช้สำหรับ “จอด” ปกติ เช่น ติดไฟแดง ดีกว่าใส่เกียร์ D แล้วเหยียบเบรกค้างไว้ การเข้าเกียร์ N เช่นกัน จะต้องทำในขณะรถจอดสนิทเท่านั้น เพราะมีบางคนจะชอบ “ใส่เกียร์ว่างปล่อยไหล” (Coasting) เพื่อจะประหยัดน้ำมัน แต่จริงๆ แล้วมัน “ไม่ได้เกี่ยวอะไรกันเลย” เพราะคุณถอนคันเร่ง กล่องก็สั่งจ่ายน้ำมันเป็น “รอบเดินเบา” อยู่ดี...

ถ้าเทียบกับ “ผลเสีย” ที่มีเยอะกว่า ประการแรก “ระยะเบรกเพิ่มขึ้น” จริงอยู่ เกียร์ออโต้มี Engine Brake น้อยกว่าเกียร์ธรรมดา แต่มันก็ยังช่วยชะลอรถได้เวลาถอนคันเร่ง ถ้าเกียร์รุ่นใหม่ๆ อันนี้เห็นผลชัดเจน อีกประการ “เกียร์มีอายุสั้นลง” เพราะการใส่เกียร์ N น้ำมันเกียร์จะไม่เข้าไปหล่อเลี้ยงกลไกภายใน แต่รถยังวิ่งอยู่ ทำให้ชิ้นส่วนภายในเกิดการเสียดสีมากกว่าปกติ หลายคนอาจจะบอกว่า “ไม่เห็นเป็นไรเลย” ได้แต่ตอบว่า “ครับ” ก็แล้วแต่ท่าน อยากทำก็ทำไปเพราะเป็นรถของท่าน แต่ถ้าทำให้ถูกต้องก็จะปลอดภัยทั้งรถทั้งเกียร์ ก็สุดแล้วแต่จะคิด...

 

ตำแหน่งเกียร์ D 

D หรือ Drive คือ “ตำแหน่งที่ใช้ขับเคลื่อนปกติ” ขับเดินหน้าทั่วไปนี่แหละครับ เกียร์จะเปลี่ยนจังหวะให้ตามความเหมาะสมตามสภาพการขับขี่โดยอัตโนมัติ คนขับไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับมัน เหยียบคันเร่งน้อยๆ สบายๆ เกียร์ก็จะเปลี่ยนให้อย่างนุ่มนวล แต่พอเหยียบคันเร่งหนักๆ เกียร์ก็จะ “เปลี่ยนที่รอบสูง” และ “ทำงานไว” เพราะมันอ่านจาก “เซ็นเซอร์คันเร่ง” ว่าตอนนี้คนขับกำลังพลุ่งพล่าน ยิ่งตอนนี้เกียร์ “ฉลาดโคตร” มันยิ่งเรียนรู้ไว และ “รู้ทันเรามาก” โดยเฉพาะตอน “ไหลลงเนิน” ถ้าความเร็วรถเพิ่มโดยไม่ได้เหยียบคันเร่ง กล่องจะประเมินผล และ “เปลี่ยนเกียร์ต่ำลงให้เอง” เพื่อให้เกิด “Engine Brake” หรือ “เบรกจากแรงหน่วงของเครื่องยนต์” ทำให้ระยะเบรกสั้นลง คุมรถง่ายขึ้น ส่วนตอน “ขึ้นเขา” เน้นว่า “ขึ้น” นะครับ เราสามารถใช้เกียร์ D อย่างเดียวได้ เพราะเนินชันเราต้องกดคันเร่งส่งมากใช่ไหม ??? เกียร์มันก็จะลากรอบให้สูงขึ้นเอง โดยที่เราไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับมัน...


ตำแหน่งเกียร์ขับเคลื่อนอื่นๆ  

เกียร์ออโต้ก็จะมีตำแหน่งเกียร์ขับเคลื่อนอื่นๆ นอกจากเกียร์ D ก็จะมี M หมายถึง Manual คือ “การกำหนดตำแหน่งเกียร์ได้เองเหมือนเกียร์ธรรมดา” โดยอาศัยโยกคันเกียร์ + หรือ – หรือใช้ Paddle Shift บนพวงมาลัย ให้ความรู้สึกคล้ายขับเกียร์ธรรมดา (เน้นว่า “คล้าย” นะครับ) แบบ “สนุกนิ้ว” แต่ไม่ต้องเหยียบคลัตช์ นอกจากความสนุกแล้ว จะมีประโยชน์ตอนขับรถ “ลงเขา” หรือ “ทางโค้งมากๆ อย่างต่อเนื่อง” จะสามารถเปลี่ยนเกียร์ต่ำเพื่อ “คงรอบเครื่อง” ไว้ได้ เพื่อดึงกำลังรถออกมา และมี Engine Brake ช่วยชะลอรถในขณะลงทางชันที่ไม่มากนัก แต่อันนี้ใช้ “เฉพาะกิจ” ก็พอ อย่ามันส์มือไม่ยั้ง ไม่ใช่อะไร “มันไม่จำเป็น” ถ้าขับทางปกติ D เดียวก็พอ นอกจากนี้ก็ยังมี S หรือ Sport เกียร์จะลากรอบสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ใช้สำหรับ “ช่วงต้องการกำลังมาก” เหมือนเป็น “โหมดสนุก” แต่ไม่ควรใช้มากไป การใช้รอบสูง เครื่องยนต์ เกียร์ สึกหรอเร็ว กินน้ำมันมาก ส่วน L ก็คือ Low อันนี้จะเป็น “เกียร์ 1” อย่างเดียว เอาไว้สำหรับตอน “ลงทางชันมากๆ” อันนี้สำคัญ “อย่าลืม” เพราะมันจะช่วยชะลอรถให้มีความเร็วต่ำที่สุด ประกอบกับการใช้เบรก ทำให้ลดความเสี่ยงในการ “เบรกไหม้” เพราะถ้าเบรกลองไหม้ขึ้นมา ก็คงไม่ได้คุยกันต่อแน่ๆ  ถ้า “สายขับบนเขา” ควรใช้ให้เป็นครับ...

 

เพราะเหตุใด เกียร์ออโต้ คือ ฆาตกร

มาถึง “ประเด็นร้อน” ที่หลายคนอยากทราบ สรุปแล้ว “เกียร์ออโต้” มันอันตรายจริงหรือ ทำไมมัน “ฆ่าคน” ได้ ก็อย่างที่เป็นข่าวบ่อยๆ จอดไว้เฉยๆ จู่ๆ รถพุ่งลงน้ำมั่ง ไหลไปทับเจ้าของรถที่ลงไปเปิดประตูบ้านตายมั่ง ไหลไปชนนั่นชนนี่มั่ง เราต้องบอกก่อนว่า “อันตรายหรือไม่อยู่ที่คนขับ” นั่นแหละครับ อย่าไปโทษ “ผีผลัก” หรือสิ่งของที่มันไม่มีชีวิต แต่เราจะมีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง...

- จอดรถแล้วให้ใส่เกียร์ P พร้อมดึงเบรกมือให้แน่นไว้เท่านั้น การจอดรถแล้วคนขับลงจากรถ จะลงไปทำอะไรก็ตามแต่ โดยที่ยังติดเครื่องทิ้งไว้ เป็นการป้องกันสองชั้น บางทีมีเด็กอยู่ในรถ พ่อแม่กลัวลูกร้อน สตาร์ทเครื่องเปิดแอร์ให้ลูกน้อยอยู่ในรถ ถ้าเจอจังหวะ “ซน” เข้าเกียร์ได้เองล่ะก็ “เป็นเรื่อง” โดยเฉพาะรถยุคเก่าๆ ที่ดึงด้ามเกียร์จากตำแหน่ง P ได้โดยไม่ต้องเหยียบเบรก แต่ในยุคใหม่จะต้อง “เหยียบเบรก” ก่อน ถึงจะดึงด้ามเกียร์ออกมาได้ ก็จะช่วยเซฟตี้ไปได้มาก...



- ดับเครื่องได้ก็ดี นอกจากข้อตะกี้แล้ว ถ้าจะให้ “ชัวร์สุด” เมื่อต้องลงจากรถให้ ดับเครื่อง ไปเลย แม้ว่าจะมีข้ออ้าง “ลงไปแป๊บเดียวเอง ไม่ต้องดับหรอก” แต่ถ้าคิดว่าไอ้ที่เกิดเรื่องกันนั่นก็ “แป๊บเดียวตาย” เหมือนกันนะ !!! มันกันได้หลายอย่างครับ เช่น “ขโมย” จังหวะซวยเจอมันจ้องอยู่ เราติดเครื่องไว้แล้วลงจากรถ พวกขึ้นรถขับออกไปหน้าตาเฉยเลย บอกตรงๆ มัน “แป๊บเดียวหาย” เหมือนกันนะครับ อันนี้อย่าเปิดโอกาสให้กับมัน ถ้าไม่อยากมานั่งร้องไห้ผ่อนกุญแจเปล่าๆ ทีหลัง...

 



จุดสำคัญ !!!

ตอนนี้รถรุ่นใหม่ๆ มีไฟบอกตำแหน่งเกียร์กันหมดแล้วนะครับ จะบอกเลยว่า “คันเกียร์อยู่ตำแหน่งใด” ณ บัดนาว หลายคนอาจจะไม่สนใจเท่าไร เพราะอาศัย “ความเคยชิน” อาจจะมี “ความขี้เกียจ” ปนอีกหน่อย มันจะไปถึง “ความประมาท” การสังเกตไฟบอก จริงๆ แล้ว “ควรสังเกตให้เป็นนิสัย” ว่าตอนนี้ คันเกียร์อยู่ในตำแหน่งใด เราจะได้รู้แน่ชัด มันส่งผลถึงความปลอดภัยอย่างแท้จริงครับ ของมีให้ใช้ ท่านเสียเงินซื้อรถมาแล้ว ก็ใช้ให้คุ้มค่าครับ...  

อีกอย่าง “อย่าเอาสิ่งของไปวางไว้ที่พื้นคนขับ” เจอเยอะ รองเท้ามั่ง ตัวร้ายเลย คือ “ขวดน้ำ” ที่มันจะกลิ้งไป “ขัดเบรกและคันเร่ง” เหยียบเบรกไม่ลง หรือ คันเร่งค้าง รถพุ่งไปตกใจทำอะไรไม่ถูก เกิดเหตุร้ายแรงกันมามากมายแล้ว ตรงพื้นคนขับต้อง “เคลียร์” เสมอครับ ทำทุกคันนะครับ... 

บทความนี้เกิดขึ้นจาก “ความห่วงใย” ของตัวผมและเว็บไซต์ Life Style 224 อยากจะให้ทุกท่านได้ใช้รถได้อย่าง “เกิดประสิทธิผลและความปลอดภัยสูงสุด” จึงเขียนขึ้นมาเพื่อให้เป็นความรู้กับบุคคลทั่วไปที่ใช้รถใช้ถนนแบบ “เข้าใจง่าย” ด้วยความปรารถนาดีครับ...

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้