การเชื่อมต่อระบบสื่อสารในรถ ช่วยให้การขับรถปลอดภัยและสะดวกสบายยิ่งขึ้นได้อย่างไร

1527 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การใช้อินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลายในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนโลกและทุกสิ่งรอบตัวเราไปโดยสิ้นเชิง รวมไปถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยเช่นกัน ระบบเชื่อมต่อสื่อสารในรถยนต์ได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิต การทำงาน และการขับขี่ของเรา ในปัจจุบัน รถที่เชื่อมต่อระบบสื่อสารสามารถทำงานได้เทียบเท่ากับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลถึง 20 เครื่อง และมีรหัสปฏิบัติการกว่าร้อยล้านแถว ส่งผลให้ระบบสามารถประมวลผลได้มากถึง 25 กิกะไบต์ ต่อ 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังคาดว่าภายในปี พ.ศ. 2564 จะมีรถยนต์ที่มีการเชื่อมต่อระบบสื่อสารวิ่งบนท้องถนนมากกว่า 380 ล้านคัน[1]



หากมีคนถามคุณว่ารถที่คุณขับมีระบบเชื่อมต่อสื่อสารหรือไม่ หากคุณไม่ทราบ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะผลการวิจัยของบริษัท กันตาร์[2] (Kantar) พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 47 เปอร์เซ็นต์ ไม่ทราบว่ารถที่ตัวเองขับอยู่มีระบบดังกล่าวหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายคนที่ไม่รู้ว่ามีเทคโนโลยีอะไรแบบนี้ และยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้จักระบบนี้ แต่ไม่วางใจหรือไม่เห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีนี้ที่มีต่อชีวิตประจำวัน



 
รถที่มีการเชื่อมต่อระบบสื่อสาร และ “อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง”

รถยนต์ที่มีการเชื่อมต่อระบบสื่อสาร สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตผ่านการสตรีมข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทำให้รถสามารถเชื่อมโยงและ 'พูดคุย' กับอุปกรณ์อื่นๆ รวมถึงสมาร์ทโฟนได้ ไม่ว่าจะอยู่ในรถหรือนอกรถก็ตาม โดยเทคโนโลยีที่มีระบบเชื่องโยงที่ผ่านการทดสอบ และสื่อสารกับรถคันอื่นบนถนน และสิ่งก่อสร้างหรือโครงสร้างต่างๆ ได้ เช่น รถพยาบาล ไฟจราจร จะช่วยให้ผู้ขับขี่ในการหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีอุบัติเหตุและการจราจรติดขัดหรือหนาแน่นได้

รถยนต์ที่มีการเชื่อมต่อระบบสื่อสาร นับเป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์เทคโนโลยีที่เรียกกันว่า อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง หรือ Internet of Things ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต อุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้เป็นอุปกรณ์ที่มีอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็นที่สามารถแจ้งเตือนเจ้าของว่านมในตู้เย็นกำลังจะหมดและสั่งซื้อให้ใหม่โดยอัตโนมัติ ไปจนถึงกระจกที่สามารถรายงานสภาพอากาศและข่าวสารประจำวันได้ในขณะที่เรากำลังแปรงฟันอยู่

“การเชื่อมต่อระบบสื่อสารเป็นกุญแจสำคัญที่ให้กับบริษัทผลิตรถยนต์อย่าง ฟอร์ด สามารถยกระดับประสบการณ์การขับขี่ที่สะดวกสบายและปลอดภัยยิ่งขึ้นให้แก่เจ้าของรถ” นายไลนัส แมทสัน วิศวกร ด้านระบบข้อมูลความบันเทิง ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี กล่าว “ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอาจทำให้ระบบนิเวศที่เชื่อมโยงทุกอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานเข้าด้วยกัน อาจเปลี่ยนโลกให้ต่างไปจากเดิม”

 

ประสบการณ์ดิจิทัลไร้รอยต่อ

ระบบข้อมูลและความบันเทิง เป็นหนึ่งในฟีเจอร์ที่มักพบได้ในรถมีการเชื่อมต่อระบบสื่อสารโดยระบบข้อมูลและความบันเทิงสามารถเปลี่ยนให้รถกลายเป็น ‘สมาร์ทโฟนติดล้อ’ และทำให้ผู้ขับขี่สามารถขยายขอบเขตการใช้ชีวิตดิจิทัลบนท้องถนนได้

ระบบข้อมูลและความบันเทิงในรถอย่าง ซิงค์ 3 จากฟอร์ด เป็นระบบสั่งงานด้วยเสียงที่ผู้ใช้สามารถควบคุมระบบนำทาง เพลง สภาพอากาศ ส่งข้อความ และโทรศัพท์ได้ โดยไม่ต้องละสายตาจากถนนและปล่อยมือจากพวงมาลัย ซึ่งไม่เพียงช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ขับขี่เสียสมาธิเท่านั้น แต่ยังทำให้สามารถทำงานระหว่างเดินทางได้อีกด้วย ผู้ขับขี่สามารถเช็คและตอบข้อความ เข้าประชุมทางโทรศัพท์ หรือฟังออดิโอบุ๊ค แทนที่จะเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ระหว่างรถติด

นอกจากนี้ การเชื่อมต่อระบบสื่อสารยังช่วยประหยัดเวลาและเงินได้ โดยระบบนำทางสามารถเช็คสภาพการจราจร ณ เวลาในขณะนั้น และแนะนำเส้นทางอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรหนาแน่นหรือสภาพอากาศอันเลวร้ายได้ ทำให้ประหยัดเวลาเดินทางและทำให้การขับขี่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ระบบนี้จึงมีความจำเป็นอย่างมาก สำหรับการขับขี่ในเมืองใหญ่และวุ่นวาย อย่างกรุงเทพฯ ซึ่งประชากรใช้เวลาติดอยู่บนท้องถนนโดยเฉลี่ยสูงถึง 64.1 ชั่วโมงต่อปี ทำให้เสียเวลาและสิ้นเปลืองน้ำมัน[3]อย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น รถที่มีระบบตรวจจับลมยางยังสามารถช่วยประหยัดน้ำมันได้อีกทาง  เพราะระบบจะส่งสัญญาณเมื่อลมยางอ่อน ซึ่งอาจส่งผลให้ยางทำงานได้ไม่เต็มที่และทำให้รถใช้น้ำมันสูงกว่าปกติถึง 6 เปอร์เซ็นต์

 

ความปลอดภัยเมื่อคุณต้องการ

การยกระดับความปลอดภัยให้แก่ผู้ขับขี่และผู้โดยสารถือเป็นข้อดีที่สำคัญที่สุดของรถที่มีการเชื่อมต่อระบบสื่อสาร ระบบดังกล่าวได้ถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้รถสามารถทำงานได้แบบกึ่งอัตโนมัติได้ เช่น ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ และระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง เป็นต้น

เทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ได้เข้ามาปฏิวัติระบบความปลอดภัยในยานยนต์ด้วยการใช้กล้องและเซ็นเซอร์ในรถยนต์ เพื่อช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ โดยรถที่มีระบบเชื่อมต่อสื่อสารในปัจจุบันมักมีระบบตรวจสอบที่สามารถแจ้งเตือนผู้ขับขี่ถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ และถูกออกแบบให้แทรกแซงหรือควบคุมรถหากจำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงการชน

ตัวอย่างเช่น รถฟอร์ดที่มีระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง จะใช้กล้องที่ติดอยู่หลังกระจกมองหลังเพื่อสังเกตเส้นแบ่งช่องทางรถและตรวจจับการออกจากช่องทางโดยไม่เจตนาของผู้ขับ เมื่อกล้องตรวจจับการออกจากช่องทาง ระบบจะแจ้งเตือนผู้ขับบนหน้าปัด หรือควบคุมพวงมาลัยและค่อยๆ บังคับรถให้กลับเข้ามาอยู่ในช่องทางเดินรถ

ในขณะที่ความก้าวหน้าของรถที่มีระบบเชื่อมต่อสื่อสารและเส้นทางสู่รถไร้คนขับเป็นเรื่องของอนาคตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในปัจจุบัน เราก็สามารถใช้ประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีอันน่าทึ่งที่เข้ามาช่วยยกระดับประสบการณ์การขับขี่ให้มีความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และเพลิดเพลินยิ่งขึ้นไปอีกระดับ

 

>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

[1] รายงานเรื่องรถยนต์ที่มีการเชื่อมต่อระบบสื่อสาร: การคาดการณ์ การแข่งขันด้านเทคโนโลยี และผู้ผลิตชั้นนำ

The Connected Car Report: Forecasts, competing technologies, and leading manufacturers - https://www.businessinsider.com/connected-car-forecasts-top-manufacturers-leading-car-makers-2015-3
[2] บล็อกหน้ายานยนต์ของบริษัทกันตาร์ – รายงานเรื่องรถยนต์ที่มีการเชื่อมต่อระบบสื่อสารและเจ้าของผู้ไม่รู้จักระบบสื่อสาร

Kantar Automotive Blog – Connected Cars, Disconnected Owners report - https://go.tnsglobal.com/connected-cars
[3] การจราจรอันหนาแน่นระดับโลกในกรุงเทพฯ

Bangkok Traffic Jams Among World’s Worst – Bangkok Post -https://www.bangkokpost.com/learning/advanced/1201724/bangkok-traffic-jams-among-worlds-worst

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้