770 จำนวนผู้เข้าชม |
ถึงเราจะรักและเป็นห่วงลูกมากจนไม่อยากให้เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา แต่ในประเทศไทย ก็ยังมีความตื่นตัวเกี่ยวกับเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือคาร์ซีทอยู่น้อย โชคดีที่ประเด็นความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับผู้โดยสารที่เป็นเด็กกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลง เมื่อรัฐบาลของแต่ละประเทศในอาเซียนกำลังพิจารณาออกกฏหมายบังคับใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็ก ล่าสุด รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้อนุมัติกฏหมายให้เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวตลอดเวลาที่อยู่บนรถ รวมถึงห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี หรือเด็กที่มีความสูงต่ำกว่า 150 เซนติเมตร นั่งบนเบาะข้างคนขับโดยเด็ดขาด
เรื่องคาดไม่ถึง
ถนนในไทยถือว่าเป็นถนนอันตรายที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[1]อุบัติเหตุบนท้องถนนยังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กอายุ 5 ถึง 14 ปี เสียชีวิต[2] หลายปีที่ผ่านมา เราใช้หลายมาตรการในการพยายามแก้ปัญหานี้ ยกตัวอย่างเช่น การบังคับให้ผู้ขี่รถมอเตอร์ไซค์และผู้โดยสารสวมหมวกกันน็อคเพื่อป้องกันอันตรายในขณะขับขี่[3] ในขณะที่หลายครอบครัวหันมาใช้รถยนต์มากขึ้น การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินทางสำหรับเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ
เบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กช่วยลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ในทารก และกว่า 50 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ในเด็กเล็ก[4] อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ดังกล่าวต้องได้รับการติดตั้งอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับรูปแบบของรถ จึงจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แก่เด็กอย่างมีประสิทธิภาพ
รถฟอร์ดหลายรุ่น มาพร้อมขอเกี่ยวสำหรับเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กตามมาตรฐาน (Lower Anchors and Tethers for Children หรือ LATCH)[5] ที่รองรับเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กได้หลายรูปแบบ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรตรวจสอบอีกครั้งว่า ติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กด้วยการยึดกับตัวล็อคด้านล่างและด้านบนอย่างถูกต้อง อีกทั้งยังควรคำนึงด้วยว่า เบาะนั่งนิรภัยนี้ควรสามารถนำไปใช้กับรถคันอื่นๆ ได้ด้วย
คุณพ่อคุณแม่สามารถขอให้ผู้จำหน่ายช่วยติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยให้ถูกวิธี จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั่วโลกหลายครั้ง พบว่ามีการติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กไม่ถูกต้อง แม้กระทั่งในประเทศที่มีความตื่นตัวเกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนนของเด็กและเยาวชนสูง ตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่า กว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของเบาะนั่งนิรภัยมีการติดตั้งไม่ถูกต้องอย่างน้อย 1 ตำแหน่ง[6]
หันหน้า หรือ หันหลัง?
เบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กแบบหันหลังเป็นอุปกรณ์ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับทารกและเด็กเล็ก ฟอร์ดแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ใช้เบาะนั่งนิรภัยประเภทนี้จนเด็กมีส่วนสูงและน้ำหนักเกินมาตรฐานที่บริษัทผู้ผลิตกำหนด ก่อนจะได้เวลาเปลี่ยนไปใช้เบาะนั่งนิรภัยแบบหันหน้า ปัจจุบัน ในท้องตลาด มีเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่สามารถปรับทิศทางการหันของเบาะได้ ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกและช่วยประหยัดเงินให้คุณพ่อคุณแม่ได้อีกทาง
อย่างไรก็ตาม เด็กไม่ควรนั่งเบาะหน้าโดยเด็ดขาด แม้จะนั่งรัดเข็มขัดอยู่บนเบาะนั่งนิรภัยแล้วก็ตาม เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ถุงลมนิรภัยอาจกระแทกใบหน้าเด็ก หรือกระแทกศีรษะหากนั่งแบบหันหลัง ซึ่งอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรง
นอกจากนี้ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า ปรับเอนเบาะนั่งนิรภัยอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้ศีรษะของเด็กโน้มเอนไปข้างหน้า โดยเฉพาะในกรณีของเด็กทารก ศีรษะควรเอนไปเพียงข้างหน้าเล็กน้อยเพื่อให้หายใจสะดวก คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมปรับเบาะอยู่เป็นระยะให้รองรับสรีระของลูกน้อยเมื่อโตขึ้น[7]
เมื่อเด็กโตเกินเบาะนั่งนิรภัยแล้ว จำเป็นจะต้องนำเบาะเสริม หรือบูสเตอร์ มาใช้แทน เพราะถึงเวลานั้นเด็กอาจยังไม่สูงหรือหนักพอสำหรับการใช้เข็มขัดนิรภัยที่มากับรถยนต์ ซึ่งเหมาะกับเด็กที่มีความสูง 150 เซนติเมตรขึ้นไป จึงจะรัดเข็มขัดด้านล่างให้แนบไปกับสะโพกและเชิงกราน และให้เข็มขัดด้านบนอยู่ระหว่างอกกับไหล่ได้พอดี[8]
เรื่องเล็กที่ไม่ควรเสี่ยง
เบาะนั่งนิรภัยมีวันเสื่อมอายุ จึงต้องหมั่นตรวจเช็คคู่มืออยู่เสมอ คุณพ่อคุณแม่ต้องเปลี่ยนเบาะนั่งนิรภัยหากเกิดอุบัติเหตุ แม้ว่าดูสภาพของเบาะยังดูเหมือนเดิม เพราะระบบภายในอาจมีรอยแตกหักซึ่งจะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อลูกน้อยได้ ในทำนองเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้เบาะนั่งนิรภัยตัวเดิมกับลูกคนที่ 2 หรือซื้อเบาะนั่งนิรภัยมือสองมาใช้ หากไม่ทราบที่มาที่ไป