เทรนด์ “เล็กดี มีหอย” กำลังมา เทคโนโลยี Downsizing engine กับความแรงทางลัด

2404 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เรื่อง : Retro_Sky

ปัจจุบันนี้ สิ่งหนึ่งที่ผู้ผลิตรถยนต์เน้นมาก ก็คือ “การลดต้นทุนการผลิต” กันอย่างเข้มงวด ด้วยอะไรต่างๆ ที่เปลี่ยนไปจากอดีต รถในสมัยก่อน ถ้าจะแรงก็ต้องใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ เพราะเทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้ามากนัก แต่ในปัจจุบัน พยายามจะ “ลดความจุเครื่องยนต์ให้เล็กที่สุด” แต่ “ต้องประหยัดและมีกำลังแรง” มากขึ้นอีก มันดูแล้วจะสวนทางกับความเป็นจริง แต่มันต้องมีอะไรที่ทำได้ หวยที่ออกมาก็คือการเล่นกับ “ระบบอัดอากาศ” อย่างเช่น “ซูเปอร์ชาร์จ” ก็ดี หรือยอดนิยมอย่าง “เทอร์โบ” ที่ปัจจุบัน มันเหมือนของใกล้ตัวเราไปเสียแล้ว แล้วอย่างไหนมันดีกว่า ระหว่าง เครื่องใหญ่กว่า แต่ไร้หอย กับ เครื่องเล็ก ติดหอย ใน NISSAN ALMERA กับ HONDA CITY ที่เป็นคู่ขิงกันอยู่ ณ ตอนนี้...

 

เราได้ประโยชน์อะไรจากเครื่องที่เล็กลงบ้าง

เทคโลโลยี Downsizing engine จะเป็นการ “ลดขนาด” ทั้ง “ความจุ” และ “ขนาด” ของเครื่องยนต์ลง สิ่งที่จะได้แน่ๆ ก็คือ “น้ำหนักเบา” ทำให้ภาระในการขับเคลื่อนน้อยลง ประหยัดน้ำมัน อัตราเร่งดีขึ้น เพราะน้ำหนักรถโดยรวมเบาลง รวมไปถึงการลดภาระของช่วงล่าง เบรก ให้ต่ำลง มันอาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่เรามองเห็น แต่ “รู้สึก” ในการขับ การเข้าโค้งทำได้ง่ายและคม ตอบสนองพวงมาลัยดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้จากน้ำหนักที่เบาลงนั่นเอง อีกประการ เมื่อตัวเครื่องเล็กลง ที่ได้มาก็คือ “สามารถเพิ่มเนื้อที่ใช้สอยได้มากขึ้น” จากรถที่มีขนาดเล็ก ถ้าใช้เครื่องใหญ่ ก็ต้องทำห้องเครื่องให้ใหญ่ตามไปด้วย กินเนื้อที่ใช้สอยของตัวรถไปอีก ก็เลยออกแบบให้เครื่องมันเล็กลงซะ แล้วทำห้องเครื่องให้เล็กตามไป เท่ากับว่าตัวรถมีขนาดเท่าเดิม แต่เนื้อที่ภายในกว้างขึ้น แม้เพียงแค่ไม่กี่นิ้ว มันก็มีผลชัดเจนในการใช้งาน...

มันคือของใหม่หรือเปล่า  

ตอบได้เลยว่า “ไม่ใหม่” สำหรับเครื่องเล็กติดหอยแบบนี้ เพราะอย่าง HONDA เอง ที่ตอนนี้หันมาคบกับเทอร์โบ หลังจากที่โลดแล่นกับเครื่องยนต์ VTEC แบบ “หายใจเอง” ไร้ระบบอัดอากาศใดๆ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าสายซิ่งทั่วโลก แต่จริงๆ แล้ว เครื่องเทอร์โบขนาดเล็ก HONDA เขาทำมาตั้งแต่ช่วงยุค 80 แล้ว ก็คือ CITY TURBO รถยนต์ขนาดจิ๋ว ที่ใช้ “หอยพิษ” เบ่งพลังได้ถึง 100 แรงม้า !!! เทียบกับเท่ากับ ACCORD เครื่อง 1.8 ลิตร ในรุ่นปีเดียวกัน ส่วน NISSAN ก็มี MICRA หรือ MARCH (การใช้ชื่อแล้วแต่จะไปแรดในถิ่นไหน) รหัส K10 ออกรุ่น SUPER TURBO เป็น Limited edition มีเพียง 10,000 คัน เท่านั้น (เป็นกฏข้อบังคับสำหรับการส่งรถเข้าแข่งขัน) ก็ใช้เครื่องยนต์ EK10GFR เทอร์โบ 0.93 ลิตร หรือ 930 ซีซี. เท่านั้น มีพลังถึง 108 แรงม้า เรียกว่าเทียบเท่ากับเครื่องยนต์ขนาด 1.6 – 1.8 ลิตร กันเลย หลังจากนั้น เทอร์โบก็เริ่มหายไปจากวงการ เพราะ “ชิ้นส่วนเยอะ” และ “การบำรุงรักษาแพงกว่า” ก็เลยกลับมาเล่นกับการเพิ่มความจุเครื่องยนต์ และ เอาหอยออกไปซะ เพื่อให้สะดวกกับการดูแลรักษา ลดค่าใช้จ่าย ลดชิ้นส่วนออกให้น้อยที่สุด แต่ทำไม...ตอนนี้มันกลับมาใหม่แล้ว...

 



เทอร์โบ ตอบโจทย์การใช้งานได้หรือไม่

ในยุคก่อน เทคโนโลยีทั้งด้านการผลิต และ ด้านโลหะวิทยา ก็ยังได้อยู่ประมาณหนึ่ง จริงๆ แล้วไม่ได้ว่ามันไม่ทนนะ ของเก่านี่แข็งแรงชะมัด แต่อาจจะแลกมาด้วยต้นทุนที่สูง ของแข็งแรงก็ทำน้ำหนักมากอีก แถมเทอร์โบก็ยังมีอาการ “รอรอบ” อย่างที่เขาว่ากัน ส่วนตัวก็ว่ามันเป็นเรื่อง “ความเชื่อ” ในรถที่ติดตั้งเทอร์โบขนาดใหญ่เพราะอยากแรง มันจึงมีอาการรอรอบเป็นปกติ ซึ่งรถเทอร์โบเดิมๆ ก็ไม่รอรอบนะครับ เพราะทางโรงงานคำนวณมาให้เป็น “ค่ากลาง” อยู่แล้ว แต่ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีต่างๆ สูงขึ้นมากมาย เครื่องยนต์ อุปกรณ์ทุกอย่างก็ทนทานมากขึ้น การออกแบบเทอร์โบก็ทำให้ “ตอบสนองไวมากๆ” มันไม่ใช่แค่เทอร์โบ แต่มันเป็นเรื่ององค์ประกอบรวม เช่น การโปรแกรมกล่อง ECU ให้ประมวลผลไวกว่าเดิมมาก การจุดระเบิดสมบูรณ์แบบ การจ่ายน้ำมันแม่นยำสูงแบบมีหลายๆ จังหวะ ทำให้ได้เรื่องทั้งความประหยัดและความแรง...

ถ้าถามว่าเครื่องเทอร์โบจะประหยัดจริงหรือ แต่ก่อนเราจะรู้สึกกันว่า รถติดเทอร์โบ ต้องแรงและกินน้ำมันมาก มันก็จริงครับ หากคุณต้องการแรงม้าสูงๆ สายซิ่งทั้งหลาย แต่ในรถใช้งานทั่วไปในปัจจุบัน การเอาเทอร์โบกลับมาใช้นั้น จะหวังผลในด้าน “แรงบิด” ที่สูงกว่า ทำให้เรา “เหยียบคันเร่งน้อยลง” แต่ “วิ่งเท่าเดิม” รวมถึงการใช้แรงอัดอากาศที่สูงขึ้นจากเทอร์โบ ทำให้ “การเผาไหม้สมบูรณ์มากขึ้น” ด้วยเหตุนี้เอง เทอร์โบจึงถูกนำกลับมาใช้ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ “ดีเซล” ที่มีปัญหาเรื่องการเผาไหม้ไม่หมดจด เอาเทอร์โบมาใช้ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป แรง ประหยัด มลพิษต่ำกว่ารุ่นเก่า (ไม่นับพวก “สายควัน” เอาไปโมดิฟายให้พ่นหมึกรบกวนชาวบ้านเขานะ) เครื่องเบนซินก็หลักการเดียวกัน ยิ่งตอนนี้ใช้หัวฉีดแบบ “ฉีดตรงเข้าห้องเผาไหม้” ก็ยิ่งประหยัดและได้กำลังสูงขึ้นอีก จนเรียกได้ว่า เป็นยุคที่เทอร์โบครองโลกก็เป็นได้...


 

แล้วแบบไหนแรงหรือขับดีกว่ากัน ???

ถ้าจะเทียบกันระหว่างรถรุ่นใหม่กับรุ่นเดิม อย่าง CITY ตัวใหม่ เครื่อง 1.0 ลิตร เทอร์โบ กับ CITY GM6 ตัวก่อน เครื่อง L15A 1.5 ลิตร ไม่เทอร์โบ ที่มีแรงม้าใกล้เคียงกัน โดยที่เครื่อง 1.0 ลิตร เทอร์โบ จะมีแรงม้า 122 PS ที่รอบต่ำเพียง 5,500 rpm ส่วน “แรงบิด” นี่น่าสนใจกว่า ได้ถึง 17.6 กิโลกรัม – เมตร ที่ 2,000 – 4,500 rpm ถือว่ามีให้ใช้ในช่วงกว้าง ซึ่งเครื่อง L15A ทำไม่ได้ เท่ากับว่า เมื่อคุณสั่งการลงน้ำหนักเท้า เพียง 2,000 rpm มันก็จะกระโจนไปด้วยแรงบิดสูงสุดที่มันมี ทำให้อัตราเร่งฉูดฉาดกว่า ตีนปลายก็ได้ระดับ 200 km/h โดยไม่ยาก...

ส่วน NISSAN ALMERA แม้เครื่องยนต์ HRA0 ที่แชร์เทคโนโลยีกับ RENAULT แรงม้าจะน้อยกว่า อยู่ที่ 100 PS แต่ก็มาในรอบต่ำกว่า เพียง 5,000 rpm ส่วนแรงบิดก็ได้ 15.5 กิโลกรัม – เมตร ที่ 2,400 – 4,000 รอบ น่าเสียดายที่มีช่วงใช้งานน้อยกว่าเพื่อนต่างค่ายไปหน่อย แต่ถ้าจะเทียบกับเครื่อง 1.2 ลิตร ใน NOTE ที่มีแรงม้าสูงสุดเพียง 79 PS เท่านั้น เห็นได้ชัดว่าสมรรถนะที่ได้ย่อมต่างกันอย่างแน่นอน เรียกว่า “จิ๋วแต่แจ๋ว” นอกจากนี้ แรงบิดที่มากในรอบต่ำ หากคุณขับแบบใช้งาน หรือ เดินทางแบบชิวๆ ก็เหยียบคันเร่งน้อยกว่าเดิม ก็จะได้เรื่องความประหยัดที่มากขึ้นอีก รวมไปถึงรอบเครื่องยนต์ที่ไม่ต้องเค้นสูงเพื่อเรียกพลัง ก็จะทำให้เกิดความทนทานสูงขึ้น เสียงเงียบลงไปอีก นับเป็นข้อดีของเครื่องเทอร์โบในปัจจุบัน เพราะทั้งสองรุ่นนี้ ก็อยู่ใน ECO CAR Phase 2 ที่เน้นเรื่องความประหยัดและมลพิษต่ำกว่าเดิม...



แต่ “ข้อเสีย” มันก็มีนะครับ เครื่องยนต์ขนาดเล็ก แบบ 3 สูบ จะมีจุดอ่อนเรื่อง “ความสมดุลย์” ด้อยกว่าเครื่องยนต์ 4 สูบ ที่จังหวะการเคลื่อนที่ของลูกสูบ เป็นแบบ “ขึ้น 2 ลง 2” แต่เครื่อง 3 สูบ จะเป็นแบบ “ลง 2 ขึ้น 1” สลับกันไปมา ความสมดุลย์ การทำงานจึงราบเรียบสู้เครื่อง 4 สูบ ไม่ได้ ส่วนการบำรุงรักษา แน่นอนครับ ว่าเรามีเทอร์โบมาเพิ่ม ก็ย่อมมีอุปกรณ์มากขึ้น เช่น อินเตอร์คูลเลอร์, ท่อทางเดินอากาศต่างๆ จึงต้องมีการดูแลและตรวจสอบกันเยอะกว่าเครื่องไร้หอยที่โล่งๆ เซอร์วิสง่ายกว่า รวมไปถึง “น้ำมันเครื่องต้องเกรดสูงกว่าเดิม” เพราะเทอร์โบทำงานรอบจัด ตั้งแต่หลายหมื่นรอบ ไปจนถึง “แสนรอบ” เราจึงต้องใช้สารหล่อลื่นที่ประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่ไม่น่ากังวลอะไร เพราะตอนนี้มีน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ดีๆ เกิดขึ้นมากมาย และ ราคามิตรภาพมากขึ้น ทำให้ไม่เป็นภาระในการดูแล (มากนัก) หากคุณดูแลและขับรถอย่างถูกวิธี แบบ “มนุษย์มีสติ” เขาทำกัน เลยคิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาในการใช้งาน...

 

บทสรุป การ Downsizing engine หรือ “การลดขนาดเครื่องยนต์ให้เล็กลง” ณ ตอนนี้ ก็ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นรถระดับ City car ไปยันรถ Luxury หรูหราขนาดใหญ่โต ที่ลดขนาดเครื่องเล็กซะจนเราคิดว่ามันจะลากไหวเหรอ แต่ด้วย “หอยพิษ” เป่าเพิ่มพลัง ทำให้แรงม้าและแรงบิดเพิ่มขึ้นมาอย่างมากมาย แถมยังมีกำลังให้ใช้ในช่วงกว้างตั้งแต่รอบต่ำ ก็พอจะกล่าวได้ว่า ตอนนี้เครื่องยนต์เทอร์โบที่ขนาดเล็กลง แต่ให้ประสิทธิภาพโดยรวมที่สูงขึ้น มัน “กำลังมา” และเราได้ใช้มันอย่างแพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้แน่นอนครับ...

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้