รถตู้ไม่ผิด

988 จำนวนผู้เข้าชม  | 

          ตัดสินใจอยู่หลายวันว่าจะเขียนดีหรือไม่ แต่สุดท้ายคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่อ่านหรือถ้ามันไปถึงมือของคนที่รับผิดชอบก็น่าจะมีส่วนช่วยประกอบการตัดสินใจได้
          ท้าวความก่อนเป็นลำดับแรกตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ผมใช้บริการรถตู้สาธารณะเส้นทาง กรุงเทพฯ-พระพุทธบาท สัปดาห์ละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อยบางวีคก็ 4-6 ครั้งแล้วแต่ความจำเป็น ลองคูณนะครับ หรือถ้าขี้เกียจก็บอกให้ว่า ผมใช้บริการไม่ต่ำกว่า 500 เที่ยว ถามว่า ประสบการณ์แค่นี้เพียงพอจะกล่าวอ้างไหม ตอบเลยว่า ไม่ แต่ทำไมกล้า...

          คำตอบเพราะ ผมผ่านสิ่งที่เรียกว่า “เกือบได้ลงหน้า 1” มาแล้วนั่นเอง

          เหตุการณ์เกิดมาสัก 3 ปีแล้วแต่จำได้แม่นว่าวันนั้นขึ้นรถเบอร์ 15 เวลาเที่ยง ปกติ คนขับชื่อ “เอ เดอะฟาสต์” (ชื่อนี้ผมตั้งให้ เพราะนั่งไปกันจนรู้จักคนขับในวินทุกคน รวมถึงเจ้าของวินด้วย) แต่วันเกิดเหตุเป็น “ใครไม่คุ้นหน้าเลย” ดูวัยรุ่นสัก 20 กว่าเห็นจะได้ ก็ไม่ได้คิดอะไรเพราะ ต้องรีบกลับไปสระบุรี
          ปกติเวลานั่งรถตู้ผมจะเลือกนั่งเฉพาะแถวหลังคนขับหรือคู่คนขับเท่านั้น ไม่ใช่อะไร เพราะ แม่มนั่งสบายสุดแล้ว และเตชะบุญวันนั้นผมนั่ง ตรงกลาง ของเบาะหลังคนขับ ตำแหน่งนี้สำคัญมากกกกกก
          เวลานั่งรถทางยาวเราก็มักจะหลับใช่ไหมครับ ใช่ทุกคนหลับหมด แต่วันนั้น ก็ไม่รู้พริตตี้หรือโคโยตี้ตนใดดลใจ “ไม่หลับ” ก็นั่งไปเพลิน ๆ คนขับก็ขับตามปกติ ไม่ได้เร็วหรือหวาดเสียวแต่อย่างใด รถขับมาถึงช่วงรังสิต ผมเห็นคนขับเหมือนพยายามจะเก็บอะไรขณะขับ....!!! คนขับก้มหน้า แล้วเงยหน้าขึ้น เป็นอยู่หลายครั้ง ผมเริ่มสงสัย “มรึงจะเก็บอะไร มรึงขับรถอยู่นะเว้ยสาดดดด!!!” แต่ก็ไม่กล้าถาม

          และแล้ว ความไม่ปกติก็ชัดเจน เมื่อรถแล่นมาถึงหน้า ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อยู่ในเลนขวาสุด เพราะเพิ่งแซงคันอื่นมา

          คนขับ ก้มหน้าเหมือนไปเก็บอะไรอีกครั้ง แต่คราวนี้ “นาน!!!” จนกระทั่ง ทิศทางของรถเริ่มแถหลุดแนวตรง ไปแตะเส้นขอบถนนสีเหลือง !!!! …. วินาทีนั้น ผมตะโกน “เฮ้ย...น้อง!!!!” พร้อมเอื้อมมือไปจะจับพวงมาลัย
          เสี้ยววินาทีนั้น มือผมที่กำลังจะแตะพวงมาลัย โดนแรงกระแทกจาก มือคนขับ ที่สะดุ้งขึ้นมา!!! คนขับหักพวงมาลัย เสียงกรี๊ดสนั่นลั่นรถ !!!! เพราะอีกไม่ถึงคืบ รถจะกระแทกกับราวเหล็กกั้นขอบถนน คนขับจึงต้องหักรถอย่างรุนแรงซ้ายทีขวาที เตชะบุญที่ รถสมบูรณ์ ไม่เสียการทรงตัว ความเร็วขณะนั้นก็ไม่น่าจะเกิน 90 กม./ชม. ตามกฎหมายกำหนดเป๊ะ ๆ
          เมื่อรถกับมาสู่การวิ่งปกติ (มรึงจะปกติมากไปป่ะ) ผมถามน้องคนขับ “จะเก็บอะไรอ่ะน้อง” เขาตอบว่า “ปากกาหล่นครับพี่” แล้วทั้งรถก็กลับสู่ความเงียบอีกครั้ง...จนกระทั่งถึงปั้มแวะเติมแก๊ส
          เมื่อลงจากรถ (เป็นระเบียบด้วยนะครับ เติมแก๊ส ผดส. ต้องลงนะจ๊ะ) ผมไปคุยกับคนขับว่า ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นกันแน่... เพราะวินาทีหลังเกิดเหตุ และในรถเขาคงไม่กล้าตอบ และคำตอบที่ผมได้ก็คือ ...

          “ผมขอโทษครับพี่ เมื่อคืนไปดูคอนเสิร์ต บอดี้แสลมมา ดึกไปหน่อยครับ”

          เท่านี้ทุกท่านคงถึงบางอ้อแล้วนะครับว่า เขาก้มเก็บอะไร...ความจริงคือ เขาสัปงก และหลับ!!! นี่คือต้นเหตุที่แท้จริง ของอุบัติเหตุ ซึ่งถ้ามันเกิดขึ้นก็มักจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวง และดังทุกครั้งไป ผมถือว่า โชคดีที่ รอดมาเล่าให้ทุกคนอ่านได้ แต่คนอื่น ที่เขาเจอเหตุการณ์แบบนี้ มักจะไม่สามารถมาเล่าให้ทุกคนฟังได้
          ขอบคุณสำหรับการติดตามอ่านจนถึงบรรทัดนี้ ขอบคุณจริง ๆ ครับ (คุณได้อ่านเกินค่าเฉลี่ยของคนไทยแล้ว เย้ ๆ!!!)
          ปล. ผมท้าต่อให้คุณเปลี่ยนรถตู้เป็น รถถังหุ้มเกราะ แต่ถ้ายังปล่อยปละละเลย ไม่ควบคุมคนขับกับนายท่า ปัญหาเช่นนี้จะวนเวียนกลับมาเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่มีวันจบสิ้น

          ทางแก้ปัญหารถตู้
          1.ลงโทษเจ้าของวิน ยึดใบประกอบการ หากเกิดเหตุ เพราะนายท่า (ส่วนมากมักจะเป็นเจ้าของวิน) ย่อมรู้อยู่แล้วว่า คนขับรถแต่ละคนเป็นอย่างไร มีความพร้อมมากแค่ไหน การปล่อยให้คนไม่พร้อมไปขับ แบกรับชีวิตผู้อื่นนั้น ถือได้ว่า กระทำผิดเช่นเดียวกัน และคนขับเชื่อฟังเจ้าของวินอยู่แล้ว เพราะไม่งั้นจะหมดทางทำกิน
          2.แจ้งผู้ผลิตรถยนต์ให้ติดตั้งระบบล็อกความเร็วไม่ให้ขับเร็วเกินกำหนด เชื่อว่าทำได้ง่าย ทำได้แน่ ทำได้ทันที แต่ได้เงินน้อยกว่า การซื้อรถใหม่...อั้ยย่ะ!!!!
          สุดท้าย ผมยืนยัน นั่งยัน นอนยัน ตีลังกายันตรงนี้ว่า “รถตู้” สามารถวิ่งรับส่งคนได้อย่างเหมาะสมแล้ว (เหมาะสมอย่างไร ไว้มีโอกาสจะเหลาให้อ่าน) แต่ “คน” นั่นแหละคือต้นเหตุที่แท้จริง “รถตู้ไม่ผิด” อย่าโยนความผิดให้มันนะ บ่างขอร้อง

                                                                                                                                                                     บ่างช่างยุ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้