867 จำนวนผู้เข้าชม |
“หมอศักดิ์ชัย” เผยผลสำเร็จโครงการผ่าตัดหัวใจ 8,000 ดวง เฉลิมพระเกียรติ 80/84 พรรษา ช่วยผู้ป่วยโรคหัวใจเข้าถึงการรักษา ลดอัตราเสียชีวิตและภาวะแทรกซ้อน สู่การพัฒนาหน่วยบริการในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ ส่งผลคิวผู้ป่วยรอผ่าตัดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปัจจุบันปรับเข้าสู่ระบบเบิกจ่ายปกติ
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “โครงการผ่าตัดหัวใจ 8,000 ดวง เฉลิมพระเกียรติ 80/84 พรรษา” หนึ่งใน 9 โครงการเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว) กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศในปี 2549 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล โดยที่มาของการดำเนินโครงการนี้ สปสช.ดำเนินโครงการเพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยพสกนิกร โดยเฉพาะด้านสุขภาพ ซึ่งแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้ง สปสช. ได้น้อมนำมาปฏิบัติ และยังส่งผลดีคือ ช่วยลดระยะเวลาผู้ป่วยรอคิวผ่าตัดหัวใจ ผู้ป่วยได้รักษาเร็วขึ้น และยังช่วยลดจำนวนผู้ป่วยสะสมที่ต้องรอคิวผ่าตัดหัวใจโดยใช้การบริหารทรัพยากรร่วมกัน
ในการดำเนินงานภายใต้โครงการผ่าตัดหัวใจ 8,000 ดวง ได้ให้การดูแลผู้ป่วยแบบครบวงจร ตั้งแต่การค้นหา การผ่าตัด และการติดตามหลังการผ่าตัด มีการกระจายคิวผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจที่กระจุกตัวในกรุงเทพ และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ไปยังภูมิภาคที่มีศักยภาพการผ่าตัด ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากขึ้น โดยมีความร่วมมือจากโรงพยาบาลที่มีศักยภาพผ่าตัดหัวใจทั่วประเทศเข้าร่วม รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน จนสามารถช่วยให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดหัวใจได้รับการรักษาตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ผลที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจซึ่งขณะนั้นมีการรอคิวผ่าตัดจำนวนมากได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจได้ นอกจากนี้ยังนำมาสู่การพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการทั่วประเทศในการดูแลและรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ นับเป็นโครงการที่ประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง
“ในการดำเนินโครงการผ่าตัดหัวใจ 8,000 ดวง สปสช.ดำเนินการจัดการเป็นกลุ่มโรคเฉพาะภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มุ่งแก้ปัญหาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้ ผลที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจจำนวนมากได้รับการผ่าตัดหัวใจ จนสามารถลดคิวการรอผ่าตัดลงได้ จนอยู่ในอัตราปกติ ทำให้ปัจจุบัน สปสช.ได้ยกเลิกการผ่าตัดหัวใจให้จัดอยู่ในกลุ่มเฉพาะโรคแล้ว โดยปรับเข้าสู่ระบบการเบิกจ่ายปกติ ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากความร่วมมือทุกฝ่ายร่วมกันในการดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรตินี้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า นอกจากโครงการผ่าตัดหัวใจ 8,000 ดวงแล้ว สปสช.ยังได้ดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติ เพื่อดูแลผู้ป่วยและแก้ไขปัญหาสาธารณสุข อาทิ โครงการผ่าตัดตาต้อกระจก 80,000 ราย โครงการผ่าตัดเปลี่ยนไต 200 ราย โครงการบริจาคอวัยวะ 200 ราย โครงการปลูกถ่ายไขกระดูก 80 ราย โครงการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา 400 ราย โครงการจัดตั้งศูนย์การฉายรังสีด้วยเครื่องเร่งอนุภาคให้ศูนย์วชิราลงกรณ์ ธัญบุรี โครงการฟันเทียมพระราชทาน และโครงการดวงตาสดใสเทิดไท้ 84 พรรษามหาราชินี เป็นต้น