ทีมนักออกแบบรถยนต์ของเชฟโรเลตใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง ออกแบบเพิ่มพื้นที่จัดเก็บของในรถเอสยูวี

619 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทีมนักออกแบบรถยนต์ของเชฟโรเลตนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการออกแบบภายในรถยนต์ของเชฟโรเลต อาทิ เครื่องจำลองแบบเสมือนจริง (VR) แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ที่ล้ำสมัย และเครื่องพิมพ์สามมิติ เพื่อเพิ่มพื้นที่ในห้องโดยสารและพื้นที่จัดเก็บสัมภาระในรถยนต์อเนกประสงค์หรือเอสยูวี

จากความจำเป็นที่ต้องการจะยกระดับการออกแบบยนตรกรรมระดับโลก การใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีขั้นสูงนั้นจึงทวีความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางตลาดรถยนต์อเนกประสงค์หรือเอสยูวีที่มีการแข่งขันสูง เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่จะนิยมเลือกรถเอสยูวี ด้วยเหตุผลหลายประการ ได้แก่ ความอเนกประสงค์ของที่นั่งที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามต้องการ โดยสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 7 ที่นั่ง และยังมีพื้นที่ในการเก็บสัมภาระที่เพิ่มขึ้น  รวมถึงเหตุผลอื่นๆ ในการเลือกซื้อรถยนต์อเนกประสงค์หรือเอสยูวี

เชฟโรเลตได้นำเสนอ “เทรลเบลเซอร์” รถเอสยูวี ระดับพรีเมี่ยมสไตล์อเมริกัน ยนตรกรรมที่ได้รับการพัฒนาในระดับโลกเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เนื่องจากแนวโน้มความต้องการใช้งานรถยนต์ของลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่นิยมใช้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไปสู่การใช้รถเอสยูวีมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ทั่วโลก ที่พบว่ายอดขายรถยนต์อเนกประสงค์หรือเอสยูวีมีเพิ่มขึ้นมากกว่า 7 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี 2554 ขณะที่ยอดขายรถยนต์นั่งลดลง 4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน

“จากความต้องการของลูกค้าที่ต้องการมีพื้นที่ในการจัดเก็บสัมภาระที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เชฟโรเลตในฐานะผู้นำเทคโนโลยีขั้นสูงจึงให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อเพิ่มพื้นที่ในรถเอสยูวี ให้สามารถจัดเก็บและบรรทุกสัมภาระได้อย่างเต็มที่” มร. ทิม เกรก ผู้จัดการฝ่ายออกแบบตกแต่งภายในของบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) กล่าวว่า “เราได้มีการออกแบบภายในห้องโดยสาร ในส่วนของช่องเก็บของในบริเวณที่นั่งทั้งหมดเพื่อให้ลูกค้าสามารถนำสัมภาระติดตัวไปได้อย่างสะดวกสบาย เช่น เครื่องดื่ม โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต กระเป๋า และของเล่นที่เด็กๆ สามารถพกติดตัวไปได้ง่าย นอกจากนี้ เรายังออกแบบพื้นที่จัดเก็บสัมภาระให้มีขนาดกว้างขวางที่สุด ซึ่งสามารถเปิดได้จากทั้งด้านข้างและด้านบน รวมถึงมีการออกแบบพื้นสำหรับเลื่อนสิ่งของเข้าออกภายในรถได้อย่างสะดวกสบาย”

ในขณะที่รถเอสยูวี มีข้อได้เปรียบที่ดีกว่ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลอย่างเห็นได้ชัด ในเรื่องของการบรรทุกสัมภาระต่างๆ ที่มีขนาดยาวหรือสูง อาทิ เฟอร์นิเจอร์ กล่องขนาดใหญ่ จักรยาน ซึ่งผู้ใช้เทรลเบลเซอร์ รถเอสยูวีระดับพรีเมี่ยมสามารถบรรทุกสิ่งของอื่นๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าเดินทางหลายๆ ใบ อุปกรณ์ตั้งแคมป์ หรืออุปกรณ์กีฬา ด้วยขนาดของพื้นที่บรรทุกสัมภาระด้านหลังของรถยนต์   เทรลเบลเซอร์ที่กว้างขวางและเปิดได้กว้าง ทำให้สามารถเก็บและบรรทุกสัมภาระต่างๆ ได้มากขึ้น ประหยัดเวลาในการจัดสิ่งของให้เข้าที่ ซึ่งเปรียบเหมือนการเล่น “เกมส์ตัวต่อเตอติส (Tetris challenge)”  ที่ใช้เวลาน้อยกว่าในรถยนต์หรือรถที่ขนาดเล็กกว่า

ในส่วนของเบาะนั่งแบบสามแถวของรถยนต์เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์  สามารถพับเก็บได้ง่าย ช่วยเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระยามจำเป็น นอกจากนี้ รถยนต์อเนกประสงค์หรือเอสยูวีสุดหรูคันนี้ยังออกแบบที่นั่งเป็นแบบ "ที่นั่งแบบโรงละคร หรือแบบเธียเตอร์ สไตล์" เพื่อให้ผู้โดยสารในเบาะแถวที่สองและสามสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์โดยรอบได้ดียิ่งขึ้น และยังมีช่องระบบปรับอากาศที่สามารถควบคุมแบบแยกอิสระสำหรับผู้โดยสารในเบาะแถวที่สาม

เชฟโรเลตได้นำความคิดเห็นจากลูกค้าที่ได้รับในหลายปีที่ผ่านมา มาพัฒนารถยนต์รุ่นต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และก่อนหน้าที่จะมีการพัฒนารถเอสยูวีเทรลเบลเซอร์ขึ้นนั้น ทีมออกแบบของเชฟโรเลตได้ทำการวิจัยตลาดรถยนต์เพื่อหาเทรนด์ทั่วโลกในการตอบสนองความต้องการใช้งานของผู้บริโภคในเรื่องของความกว้างขวางภายในรถยนต์และความอเนกประสงค์ที่กำลังเป็นที่นิยม

ในช่วงเริ่มต้นโครงการดังกล่าว เชฟโรเลตได้นำแนวคิดการออกแบบภายในรถยนต์ มานำเสนอให้แก่กลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มเฉพาะ เพื่อให้มั่นใจว่าการออกแบบของเชฟโรเลตสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง โดยมีการเก็บข้อมูลสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งในรถยนต์รุ่นปัจจุบันไม่มีก่อนที่จะนำข้อมูลที่ได้รับจากลูกค้าทั้งหมดมาพัฒนาหรือออกแบบเพิ่มเติม เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าหรือแม้กระทั่งตอบโจทย์ได้เกินความคาดหวังของลูกค้า ทั้งนี้ จากความมุ่งมั่นในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าดังกล่าว จึงนำมาสู่การเปิดตัว ชุดอุปกรณ์ตกแต่ง "ฟีนิกซ์ อิดิชั่น (Phoenix Edition)" สำหรับเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ ในประเทศไทยโดยเฉพาะ โดยมีทั้งอุปกรณ์สำหรับตกแต่งภายในและภายนอกใหม่

ในระหว่างการดำเนินงานในส่วนการออกแบบดังกล่าว ทีมออกแบบรถยนต์ของเชฟโรเลตได้ใช้เครื่องมือดิจิทัล เข้ามาช่วยสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบภายในกับโครงสร้างให้มีความลงตัวมากที่สุด   โดยมีการนำส่วนที่ไม่จำเป็นออกไปจากห้องโดยสาร เพื่อให้นักออกแบบสามารถใส่ช่องเก็บสัมภาระและลูกเล่นต่างๆได้มากขึ้น โดยทั้งหมดนี้ได้ถูกดำเนินการมาตั้งแต่การเริ่มออกแบบรถยนต์แล้ว ซึ่งทุกกระบวนการค่อนข้างใช้เวลาพอสมควร จนมั่นใจและกลายมาเป็นแนวคิดของการออกแบบภายในที่ลงตัว อย่างในปัจจุบัน

สำหรับชุดเครื่องมือดิจิทัลที่เชฟโรเลตใช้นั้น ประกอบไปด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ขั้นสูง เพื่อสร้างแบบจำลองร่างกายของมนุษย์ตามหลักการยศาสตร์ และระบบสภาวะแวดล้อมเสมือนจริงแบบสามมิติ (3D Cave Automated Virtual) ทีมนักออกแบบใช้เครื่องมือคำนวณพื้นที่ ซึ่งเป็นอุปกรณ์พิเศษเฉพาะของเจนเนอรัล มอเตอร์ส ในการวิเคราะห์ข้อมูลการรับรู้ของลูกค้าในเรื่องความกว้างขวางของห้องโดยสาร และจำลองแบบร่างกายของมนุษย์ เพื่อออกแบบห้องโดยสารที่รองรับผู้ขับขี่ที่มีรูปร่างที่แตกต่างกัน ตลอดจนรองรับทุกอิริยาบถของผู้ขับขี่ นอกจากนั้น ระบบสภาวะแวดล้อมเสมือนจริงแบบสามมิติยังช่วยออกแบบในการประเมินจุดบอดการสะท้อนและการมองเห็นวัตถุภายในและภายนอกรถ

ทีมนักออกแบบของเชฟโรเลตยังใช้เครื่องพิมพ์สามมิติในการ "สร้าง" ชิ้นส่วนต้นแบบที่ผลิตจากผงหรือเรซินเหลว โดยการใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ ร่วมกับข้อมูลทางคณิตศาสตร์และเลเซอร์ดิจิทัล ทำให้นักออกแบบสามารถเห็น สัมผัส และทดสอบชิ้นส่วนและระบบแต่ละชิ้นได้ทันทีและมีความแม่นยำ โดยสามารถปรับเปลี่ยนได้ก่อนที่จะผลิตจริง ซึ่งอาจทำให้เสียค่าใช้จ่ายประมาณหลายร้อยหรือหลายพันดอลลาร์

“เมื่อเราได้ข้อมูลคร่าวๆ ของรถโดยรวมแล้ว เราจะนำมาข้อมูลทั้งหมดมาจำลองในรูปแบบ VR เสมือนจริง เพื่อให้ได้มุมมองของผู้บริโภคอย่างแท้จริง และหากมีสิ่งที่จำเป็นต้องปรับก็สามารถทำได้ทันที” มร. เกรก กล่าว “ในเวลาทำงานส่วนใหญ่เราจะทำโดยใช้เครื่องมือดิจิทัลเข้ามาช่วย เพราะสะดวกรวดเร็ว มีความสมบูรณ์ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพมาก ซึ่งการใช้เทคโนโลยี VR หรือจำลองภาพเสมือนจริงช่วยทำให้เราได้เห็นภาพรถยนต์จริง ก่อนที่จะผลิตเป็นรถต้นแบบหรือแบบรถจำลอง”

หลังจากที่มีการออกแบบภายในรถยนต์เพิ่ม และสร้างภาพดิจิทัลขึ้นมาแล้ว ทีมนักออกแบบรถยนต์ของเชฟโรเลตจะใช้เครื่องกัดและเครื่องพิมพ์สามมิติ เพื่อขึ้นรูปและสร้างชิ้นส่วนต้นแบบก่อนจะนำมาสร้างเป็น "ที่นั่ง” (seating bucks) เสมือนจริงที่ทำจากไม้และโฟม จากนั้นจะทำการประเมินโดยรวม และจึงทำแบบจำลองดินเหนียวเพื่อประเมินแนวคิดของการออกแบบในที่สุด

“นักออกแบบและนักแกะสลักในสตูดิโอออกแบบของเชฟโรเลต จะทำทั้งงานดิจิทัลและแบบจำลองจริง เพื่อออกแบบแนวคิดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะภายในห้องโดยสารที่มีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งจะทำให้การออกแบบของเรา สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ได้มากขึ้น ด้วยรูปลักษณ์ที่สวยปราณีตสมบูรณ์แบบ” มร. เกรก กล่าว

โดยทั่วไปแม้ธรรมชาติของการออกแบบรถยนต์ต้องมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่ มร.เกรก กล่าวว่าเคล็ดลับที่แท้จริงในการออกแบบภายในที่ทั่วโลกยอมรับคือ สิ่งที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง ซึ่งนักออกแบบของแบรนด์ได้ใส่สิ่งนั้นไปในรถแต่ละคัน โดยในช่วงเริ่มต้นของการออกแบบ ทีมสตูดิโอของเชฟโรเลตมักจะใช้แนวทาง "การดำเนินชีวิตของลูกค้า" ในการร่วมกันคิดวิธีช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยการจำลองสถานการณ์บางอย่างที่ได้มาจากการวิจัยตลาด และการวิจัยทางช่องทางออนไลน์ แต่ส่วนใหญ่จะนำข้อมูลมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของลูกค้า

“พวกเราทุกคนล้วนเป็นลูกค้าคนสำคัญเช่นเดียวกัน” มร. เกรก กล่าว “การออกแบบที่ดีที่สุดคือการมีวิวัฒนาการของการออกแบบที่เริ่มจากการดูแลเอาใจใส่ในการใช้ชีวิตของลูกค้าที่ทำเป็นประจำ และมีการทดสอบสิ่งที่เราออกแบบด้วยวิธีเดียวกันกับที่ลูกค้าของเราจะได้รับ โดยเรามีทีมงานซึ่งเป็นผู้ออกแบบภายในรถยนต์ของลูกค้าและต้องการให้ลูกค้าทุกคนมั่นใจได้ว่า เราเอาใจใส่ และทุ่มเททำงาน เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้าทุกคนของเชฟโรเลตจะได้รับประสบการณ์อันล้ำค่าที่ดีที่สุดในรถยนต์ทุกคันของเรา”

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้