594 จำนวนผู้เข้าชม |
รองผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก ย้ำไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีที่สุดในโลก ด้านผู้ป่วยโรคไตเชื่อมั่นวิธีการล้างไตผ่านทางหน้าช่องท้อง โดยใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาททำให้มีชีวิตรอด เผยหากไม่มีบัตรทอง 30 บาทคงตายไปแล้ว
แพทย์หญิงซอมญ่า สะวามินาทาน (Dr.Soumya Swaminathan) รองผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ลงพื้นที่ ณ โรงพยาบาลน้ำพอง และเทศบาลตำบลสะอาด อ.น้ำพอง เพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนการสร้างหลักประกันสุขภาพ และการจัดการระบบสาธารณสุขให้กับประชาชนในพื้นที่ชนบท โดยมี นพ.วิชัย อัศวภาคย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน้ำพองและคณะ พร้อมด้วย นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 7 ขอนแก่น และคณะให้การต้อนรับ โดยพญ.ซอมญ่า และคณะได้เดินทางไป ต.สะอาด อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจ นายเพ็ญศิลป์ พิมพิสาร อายุ 69 ปี ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง (CAPD) มาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์
นายเพ็ญศิลป์ กล่าวว่า เมื่อแรกทราบว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรังและได้รับการส่งต่อจากโรงพยาบาลน้ำพองไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลขอนแก่นนั้น มีความกังวลใจอย่างมาก เพราะกลัวว่าจะไม่มีเงินค่าฟอกไต แต่เมื่อได้ทราบว่าตนใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมีสิทธิได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตผ่านทางช่องท้อง ตนก็มีความหวังในการรักษา แพทย์ พยาบาล ทั้งที่โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลน้ำพอง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสะอาด อสม.ซึ่งอยู่ใกล้บ้านก็ดูแลอย่างดี ทำให้ตนอยู่มาได้จนทุกวันนี้
นายเพ็ญศิลป์ กล่าวว่า หากไม่มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ตนคงต้องตายไปนานแล้ว เพราะไม่มีเงินจะไปฟอกเลือดที่ต้องจ่ายครั้งละประมาณ 1,500 – 2,000 บาท และต้องฟอกเลือดเดือนละหลายครั้ง แต่พอใช้สิทธิบัตรทองเพื่อล้างไตทางช่องท้องก็ไม่ต้องเสียเงินมาก เพราะได้จ่ายเพิ่มเฉพาะค่าอุปกรณ์บางอย่างที่ต้องการเพิ่มเป็นพิเศษเท่านั้น ส่วนน้ำยาล้างไตก็ส่งตรงมาถึงบ้าน ตั้งแต่ตนล้างไตด้วยวิธีนี้มา 6 ปี เคยติดเชื้อเพียงครั้งเดียว เพราะวันนั้นรีบไปธุระไม่ได้รอให้จบกระบวนการล้างไตตามที่เคยทำมาเป็นปกติจึงทำให้ติดเชื้อ แต่ก็ได้รับการดูแลรักษาทันท่วงที หลังจากนั้นมาก็ดำเนินตามวิธีการล้างไตทางช่องท้องที่ได้รับการอบรมจากโรงพยาบาลขอนแก่นอย่างเคร่งครัด ก็ไม่มีปัญหาด้านการติดเชื้ออีกเลย และภายหลังการรักษาโรคด้วยด้วยการล้างไตทางช่องท้องทำให้ตนมีชีวิตมาจนทุกวันนี้ จากที่อ่อนแรง ไม่ค่อยรู้สึกตัว ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต้องนอนอยู่บนเตียงกว่า 2 เดือน ภายหลังได้รับรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง มีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ จนขณะนี้สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นปกติกว่า 6 ปี ร่วมกับลูกหลานและคนในชุมชน เช่น ไปวัดทำบุญ เดินออกกำลังกายรอบชุมชน
พญ.ซอมญ่า กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ศึกษาดูงานการจัดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นว่า องค์การอนามัยโลกได้ตั้งเป้าหมายที่จะทำให้ประชากรทั่วโลก เข้าถึงหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าภายใน 5 ปี โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศตัวอย่างที่ดีมากในการจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะมีการบริหารจัดการงบประมาณที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่ได้มีแค่การรักษาพยาบาล แต่ครอบคลุมไปถึงการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมถภาพทางการแพทย์ จนสามารถเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ ได้
พญ.ซอมญ่า กล่าวว่า จากการศึกษาดูงานครั้งนี้ตนได้เห็นการทำงานของหน่วยบริการสาธารณสุขหลายระดับ และยังได้เห็นถึงความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ กระทรวงสาธารณสุข สปสช. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนถึงภาคประชาชน ชุมชน ที่เป็นอาสาสมัคร และผู้ดูแลสุขภาพในชุมชน (Care giver) ที่มีกระบวนการทำงานที่หลากหลายเหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ ทำให้คนไทยได้รับบริการสาธาณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ในเมือง หรือชนบท ซึ่งตนจะได้นำสิ่งที่ได้จากการศึกษาดูงานครั้งนี้ ไปนำเสนอให้ประเทศอื่นๆ ที่ต้องการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพต่อไป
พญ.ซอมญ่า กล่าวว่า แม้ว่าระบบบริการสาธารณสุขจะพัฒนาไปจนทำให้โรคติดต่อที่เป็นปัญหาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เช่น การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคติดต่ออื่นๆ ลดลง แต่ทั่วโลกและประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทางด้านสาธารณสุขใหม่ ๆ คือ 1.การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 2.ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง การเจ็บป่วยของผู้สูงอายุ และกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ การบริโภคเกลือและน้ำตาลมากเกินไป ซึ่งจะต้องแก้ไขด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือที่ดีจากปัจเจกบุคคล ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้บุคลากรทางสาธารณสุขซึ่งมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชน ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ 3.การลดอุบัติเหตุทางถนน 4.การป้องกันการติดเชื้อวัณโรค ซึ่งไทยมีระบบการรักษาที่มีคุณภาพมาตรฐาน แต่ยังพบว่าผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มมากขึ้นทุกปี
พญ.ซอมญ่า กล่าวต่อว่า การได้มาลงพื้นที่และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทำงานจริงของหน่วยงานต่าง ๆ จะเป็นข้อมูลในการพัฒนาและแลกเปลี่ยนในด้านนโยบายโรคไม่ติดต่อกับผู้บริหารระดับสูงจากทั่วโลกในการแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อต่อไป ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกพร้อมจะร่วมมือและสนับสนุนประเทศไทยเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการดำเนินงานในประเทศไทย และสามารถจัดทำรายงานการดำเนินงาน และรวบรวมองค์ความรู้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย เพื่อให้ประเทศอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้เข้ามาศึกษางานหลักประกันสุขภาพในประเทศไทยด้วยตนเองจะได้ศึกษาจากเอกสารรายงานที่ทำขึ้นนี้ และนำไปการพัฒนาสุขภาพโลกต่อไป