939 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังจากที่ ซูซูกิ มอเตอร์ ได้นำเทคโนโลยีไฮบริดมาใส่กับรถในกลุ่ม MPV อย่าง Ertiga กันไปก่อนหน้านี้แล้ว แม้ระบบไฮบริดของ ซูซูกิ จะไม่เหมือนระบบทั่วๆ ไป แต่ก็สามารถชูเรื่องความประหยัดได้อีกนิด และเพื่อเป็นการเติมเต็มไลน์ของรถในกลุ่ม MPV เลยนำหัวใจ และระบบไฮบริดจาก Ertiga มาใส่ในรถ MPV สไตล์ครอสโอเวอร์อย่าง XL7 เข้าไปด้วย แถมราคายังเย้ายวนใจเริ่มต้นที่ 7.99 แสนบาท ไปดูซิว่ามีอะไรที่น่าสนใจ และสมรรถนะเป็นอย่างไรกันบ้าง
การเปิดตัว XL7 เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2563 ขายเรื่อยมาจนถึง กุมภาพันธ์ ปี 2567 กับยอดจำหน่ายรวม 8,699 คัน และเพื่อเป็นการตอกย้ำความสำเร็จในยอดจำหน่าย และเพิ่มความสดใหม่ให้กับรถรุ่นนี้ ทางซูซูกิ ได้มีการแนะนำตัว พร้อมกับจัดให้มีการทดสอบสมรรถนะของ XL7 Hybrid ในช่วยเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
รูปลักษณ์ภายนอกของ XL7 Hybrid มีการปรับเปลี่ยนในเรื่องของ ดีไซน์กระจังหน้าใหม่ เพื่อกรอบ และคิ้วโครเมี่ยมขนาดใหญ่ ทำให้ตัวรถดูมีความหรูหรา พรีเมี่ยม มากยิ่งขึ้น ไฟหน้าเปิด-ปิด อัตโนมัติ พร้อมฟังก์ชั่น Guide Me ทำงานอัตโนมัติ เพื่อส่องทางเข้าบ้าน และเมื่อเดินเข้าใกล้ตัวรถ ให้ความสะดวกสบาย และปลอดภัยยามค่ำคืน
เส้นสายตัวรถยังคงเดิม เช่นเดียวกับคิ้วซุ้มล้อพลาสติกสีดำที่ทำให้ตัวรถดูบึกบึน พร้อมลุย ดีไซน์ท้ายรถมีการเพิ่มเติมเส้น Crome Back Garnish เชื่อมต่อระหว่างไฟท้ายทั้ง 2 ฝั่ง ช่วยให้มิติทางด้านท้ายรถดูเต็มยิ่งขึ้น พร้อมแปะป้าย Hybrid ไว้ที่มุมด้านล่างของฝาท้าย
ภายในห้องโดยสารยังคงเอกลักษณ์ และดีไซน์เหมือนเดิม เปลี่ยนแปลงหลักๆ คือ มาตรวัดเรือนไมล์ บริเวณจอกลาง TFT ที่สามารถปรบดู Display ค่าการทำงานต่างๆ ระบบไฮบริดได้ และยังสามารถดูในเรื่องของเปอร์เซ็นต์การกดคันเร่ง และการกดแป้นเบรคได้ ที่เพิ่มเติมอีกอย่างคือ Wiress Charge สำหรับโทรศัพท์มือถือ และจอกลางขนาด 10.1 นิ้ว ที่รองรับ Apple Car Play และ Android Auto
ตำแหน่งเบาะนั่งทั้ง 7 ที่นั่ง ยังคงให้ความสะดวกสบายในการเดินทาง โดยเฉพาะเบาะนั่งแถว 2 ที่สามารถปรับเอนพนักพิงได้ ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง ระบบปรับอากาศหลังให้ความเย็นฉ่ำทุกที่นั่ง(แม้แถว 3 ช่องแอร์จะอยู่บริเวณเหนือศีรษะของผู้ขับขี่ และผู้โดยสารตอนหน้าก็ตาม) เบาะนั่งแถวที่ 3 ยังคงให้พื้นที่ในการนั่งเดินทางสำหรับผู้โดยสารที่สูงไม่เกิน 170 ซม. ในการเดินทางระยะทางไม่เกิน 300 กม. ได้แบบไม่มีบ่น
เครื่องยนต์ของ Xl7 Hybrid มาพร้อมกับเครื่องยนต์เบ็นซิน รหัส K15B แถวเรียง 4 สูบ 16 วาล์ว ความจุ 1.5 ลิตร หัวฉีดมัลติพอยท์ ให้แรงม้า 105 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิด 138 นิวตัน-ม. 4,400 รอบต่อนาที สมรรถนะที่เราเคยได้สัมผัสมาก่อนในหน้านี้ ถือว่าให้สมรรถนะที่เพียงพอต่อการใช้งาน และการเดินทาง(ยกเว้นทางขึ้นเขาชันมากๆ ที่อาจต้องใช้รอบเครื่องยนต์ที่สูงพอประมาณ และเลือกใช้เกียร์ที่เหมาะสมก็สามารถพาตัวรถไปตามเส้นทางได้แบบไม่ยากเย็นนัก)
ระบบไมลด์ไฮบริด 12 โวลต์ ซึ่งจะไม่เหมือนระบบไฮดบริดทั่วๆ ไป เพราะใช้ตัวไดชาร์จทำหน้าที่เป็นทั้ง เจเนอเรเตอร์ และมอเตอร์สตาร์ทในตัวเดียวกัน ISG-Integrted Starter Generator ซึ่งจะช่วยในจังหวะออกตัว และเร่งแซง(ซึ่งเป็นจังหวะที่เครื่องยนต์ต้องรับโหลดภาระสูงที่สุด) รวมไปถึงขณะที่ระบบ Idling Stop ทำงาน และในทางกลับกัน ขณะลดความเร็ว หรือเบรค มอเตอร์ก็จะทำหน้าที่เป็นเจเนอเรเตอร์ ชาร์จไฟกลับเข้าสู่แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนความจุ 10 แอมป์ แรงดันไฟฟ้า 12 โวลต์
แม้ระบบไมลด์ไฮบริดอาจไม่สามารถเสริมสร้างสมรรถนะได้เท่ากับ ระบบไฮบริดแบบทั่วๆ ไป แต่เท่าที่ลองสัมผัสกับการทดสอบบนเส้นทางกรุงเทพ-สวนผึ้ง ระยะทางเกือบๆ 300 กม. ในช่วงการเดินทางในเมืองรถติดๆ ถ้าผู้ขับขี่ใช้คันเร่งแบบไม่กระโชกโฮกฮากเกินไป ระบบไมลด์ไฮบริดจะออกมาช่วยในจังหวะการออกตัวได้ดีในระดับนึง แม้จะไม่ปรู๊ดปร๊าดเหมือนกับระบบไฮบริดทั่วๆ ไป แต่ก็อาศัยไว้วานพอได้(จุดเด่นจริงๆ คือ เร่งลดมลภาวะค่าไอเสียที่ออกสู่ชั้นบรรยากาศที่ต่ำลง)
เช่นเดียวกับจังหวะในการเดินทางถ้าผู้ขับขี่รักษาจังหวะในการกดคันเร่ง นิ่งๆ เนียนๆ ในรอบเครื่องยนต์ 1,000-3,900 รอบต่อนาที ระบบไมลด์ไฮบริดก็จะช่วยเสริมสมรรถนะในการขับขี่ ทำให้เกิดการประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้น แม้จะไม่มากเท่าระบบไฮบริดทั่วๆ ไปก็ตาม แต่ตัวเลขเท่าที่เห็นบนหน้าจอเรือนไมล์ ทำได้แตะๆ 17 กม./ลิตร แต่ถ้ากดคันเร่งหนักๆ คิกดาวน์บ่อยๆ ตัวเลขจะหล่นมาแถวๆ 13.7 กม./ลิตร การทำงานของระบบส่งกำลังเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ให้การทำงานที่ราบรื่น กระชับกระเฉงดีไม่น้อย
ระบบบังคับเลี้ยวแบบ แร็คแอนด์พิเนี่ยนไฟฟ้าช่วยผ่อนแรง ให้น้ำหนักที่กำลังดี ไม่เบาจนโหวงเหวง หรือหนักจนรับไม่ได้ แม้อัตราทดจะไม่ได้กระชับนัก แต่ก็ให้การควบคุมทิศทางที่ดีพอตัว ระบบกันสะเทือนด้านหน้าแบบ อิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัท คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง และด้านหลังแบบทอร์ชั่นบีม ให้การทรงตัวที่ดีในระดับที่วางใจได้ แต่ถ้าโดนรถบรรทุกคันใหญ่ๆ วิ่งสวนมา อาการตัวรถปลิวๆ นิดๆ แต่ก็ควบคุมได้ ขณะเข้าโค้งด้วยความเร็วในระดับ 100-120 กม./ชม. ให้ความมั่นใจได้ดี แม้ตัวรถจะสูง และเป็นทรงกล่องก็ตาม ไม่มีอาการเอียงหรือวูบวาบให้ตกใจจนเหงื่อซึมออกมือ
ระบบเบรคเป็นแบบ หน้าดิสค์ หลังดรัมเบรค พร้อมระบบตัวช่วยต่างๆ ครบคัน ซึ่งให้ประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี น้ำหนัก และจังหวะการทำงานของแป้นเบรคไม่ต้องปรับตัวมาก ล้อที่ให้มาเป็นขนาด 16 นิ้ว ดูเหมือนจะใหญ่ไปนิด แต่สำหรับรถสมัยนี้ถือว่าเป็นไซส์ที่ปกติ
ภาพรวมของ XL7 Hybrid กับสมมรถนะที่พ่วงระบบ ไมลด์ไฮบริด จัดว่าเพียงพอต่อการใช้งาน และเดินทางไกลในระดับที่น่าพอใจ แต่ด้วยคู่แข่งในตลาดของรถกลุ่มนี้อาทิ Mitsubishi X-Pander Cross, Hyundai Stargazer, Toyota Veloz เส้นทางครั้งนี้อาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ด้วยพื้นฐานของ ซูซูกิ ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการพัฒนารถเล็ก XL7 Hybrid จัดว่าเป็นรถครอบครัวที่ไม่ควรมองข้ามแต่อย่างใด และเวลานี้ท่านผู้อ่านสามารถไปทดลองขับได้แล้วที่โชว์รูม ซูซูกิ ทั่วประเทศ