Neta V-II ปรับด้านท้ายใหม่..เสริมระบบ ADAS อัพเกรดช่วงล่าง

399 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เมื่อช่วงต้นเดือน มิถุนายน ที่ผ่านมา บริษัท เนต้า ประเทศไทย จำกัด ได้เชื้อเชิญสื่อมวลชนสายยานยนต์ รวมไปถึงเจ้าของดีลเลอร์ ให้มีโอกาสได้สัมผัสกับสมรรถนะ และเทคโนโลยีของรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการปรับปรุงใหม่ Neta V-II และรถแนว SUV รุ่นใหม่ล่าสุดที่กำลังจะเปิดตัวในวันที่ 25 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้อย่าง Neta X ณ สนามทดสอบยานยนต์ และยางล้อแห่งชาติ ATTRIC อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา


Neta V-II ปรับด้านท้ายใหม่..เสริมระบบ ADAS อัพเกรดช่วงล่าง

วันงานจะแบ่งการทดสอบรถทั้ง 2 รุ่น โดยแบ่งพื้นที่สนามกันอย่างชัดเจน โดย Neta V-II จะเน้นให้ไปลองกับฟังก์ชั่นของระบบความปลอดภัย ADAS Level 2 ซึ่งถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้าไซส์เล็กราคาค่าตัว 5 แสนกลางๆ ที่ติดตั้งระบบความปลอดภัยช่วยเหลือในการขับขี่มาเต็มพิกัด ไม่แตกต่างไปจากยานยนต์ตัวหรูราคาระดับ 3 ล้านอัพขึ้นไป รูปลักษณ์ภายนอกของ V-II ด้านหน้าไม่แตกต่างจากรุ่นแรก V เส้นสายด้านข้างก็เหมือนเดิม จุดที่ปรับเปลี่ยนจริงๆ คือ ด้านท้ายรถ มีการปรับเปลี่ยนเส้นสาย และดีไซน์ของไฟท้ายทั้งชุดจากเดิมมาในสไตล์เส้นสายของบูมเมอแรง ซึ่งหลายท่านบอกว่ามันดูขัดๆ เขินๆ ไม่ค่อยลงตัว


พอมาเป็นตัว V-II มีการปรับดีไซน์ใหม่เป็นแบบแนวนอนพาดยางเชื่อมต่อท้ายรถทั้ง 2 ฝั่ง ทำให้ตัวรถดูมีความหรูหรา และลงตัวมากยิ่งขึ้น ชุดไฟท้ายเป็นแบบ LED และยังเพิ่มปัดน้ำฝนที่กระจกบังลมหลัง ส่วนทางด้านหน้าปรับเปลี่ยนเส้นสายของกันชนหน้าเล็กน้อย มีช่องดักลมทางด้านข้าง เช่นเดียวกับกระจังหน้าแบบ Starlight Grille ส่งให้ด้านหน้าของตัวรถดูหรูหรามีมิตมากขึ้นกว่าเดิม และมีการติดตั้งคิ้วโครเมี่ยมเพิ่มความหรูหราบริเวณชายล่างของกันชนหน้า และไซส์สเกิร์ต ไฟหน้าเส้นสายเหมือนเดิมแต่เปลี่ยนหลอดด้านในจากฮาโลเจนมาเป็นแบบ โปรเจ๊กเตอร์ แอลอีดี



ภายในห้องโดยสารยังคงสไตล์แบบเดียวกับ พื้นที่ของภายในห้องโดยสารตอนหน้าถือว่านั่งสบายพอตัวสำหรับรถไซส์นี้ เบาะนั่งคู่หน้าออกแบบให้ตำแหน่งท่านั่งค่อนข้างต่ำ แต่ก็มองทัศนวิสัยในการขับขี่ได้ชัดเจน แต่ถ้าหญิงไทยไซส์มาตรฐานสูงไม่เกิน 160 ซม. อาจมองลำบากนิดนึง แม้เบาะผู้ขับขี่ไม่สามารถปรับสูง-ต่ำได้ และเบาะคู่หน้าเป็นแบบปรับอัตโนมือ ดังนั้นการปรับตำแหน่งท่านั่งอาจไม่ค่อยจะพอดีในการขับเท่าที่ควรแต่ก็ใช่ว่าจะใช้งานไม่ได้

จอมัลติมีเดียตรงกลางขนาด 14.6 นิ้ว แบบทัชสกรีน มาพร้อมฟังก์ชั่นภาษาไทย เชื่อมต่อบูลทูธ และ Wifi จากมือถือได้ หน้าจอเรือนไมล์แบบ TFT วางยาวตามแนวคอนโซลยังคงเหมือนเดิม พวงมาลัยยังคงเหมือนกับ V มาพร้อมกับปุ่มมัลติฟังก์ชั่น และเพิ่มปุ่ม ACC(Adaptive Cruise Control) นอกจากปุ่ม +/- ของระบบ CC(Cruise Control ปกติในรุ่น V) ตัวพวงมาลัยมาสามารถปรับระดับได้



เบาะด้านหลังสามารถพับเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระท้ายรถได้(แต่ไม่สามารถแยกพับได้) พื้นที่นั่งด้านหลังถ้าคนสูงระดับ 170 ซม. ขึ้นไป พื้นที่เหนือศีรษะยังพอมีเหลือบ้างเล็กน้อย เช่นเดียวกับพื้นที่วางขาอาจไม่สบายเท่าทีควร เบาะนั่งทุกที่นั่งหุ้มด้วยวัสดุหนังสังเคราะห์ PU

สีภายในตัว V-II มีการปรับเปลี่ยนใหม่ให้เข้ากับสีสันของตัวรถอาทิ สีภายนอกเป็นสีฟ้า ภายในจะเป็น สีขาว-ฟ้า และถ้าตัวรถเป็นสีชานม ภายในจะเป็นสีขาว-ดำ พื้นที่นั่งด้านหลังถ้าคนสูงระดับ 170 ซม. ขึ้นไป พื้นที่เหนือศีรษะยังพอมีเหลือบ้างเล็กน้อย เช่นเดียวกับพื้นที่วางขาอาจไม่สบายเท่าทีควร

ระบบขับเคลื่อนเลือกใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเดี่ยวแบบ Permanent Magnet Synchronous ให้แรงม้า 95 ตัว แรงบิด 150 นิวตัน-ม. ขับเคลื่อนล้อหน้า มอเตอร์ลูกนี้ทำงานร่วมกับแหล่งจ่ายไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน LFP ขนาดความจุ 138.5 kWh ชารจ์ไฟ 1 ครั้งวิ่งได้ระยะทาง 385 กม. ตามมาตรฐาน NEDC อัตราเร่ง 0-50 กม./ชม. ใช้เวลา 3.9 วินาที ความเร็วสูงสุด 124 กม./ชม. รองรับการชาร์จไฟแบบ AC Type 2 ที่ 6.6 kW และ DC CCS2 รับไฟได้สูงสุด 50 kW สมรรถนะในเรื่องของอัตราเร่งทำได้ดีเมื่อเทียบกับขนาด และน้ำหนักของตัวรถ เอาจริงๆ ถ้าขับใช้งานในเมือง หรือออกชานเมืองไม่เกิน 200 กม. ถือว่าขับสนุกดีทีเดียว แต่ถ้าใช้งานทางไกลยาวๆ อาจเหนือหน่อยเพราะด้วยความเร็วสูงสุดที่น้อยไปนิด จังหวะเร่งแซงต้องมีลุ้นพอควร

ระบบกันสะเทือนด้านหน้าแบบ อิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัท คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง และด้านหลังเป็นแบบ ทอร์ชั่นบีม ซึ่งระบบกันสะเทือนได้มีการอัพเกรดในเรื่องของ ช็อคอัพใหม่ทั้ง 4 ตันให้มีความหนืดมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งตอนทดลองขับให้ความประทับใจที่ดีขึ้นกว่าตัว V แบบชัดเจน ระบบบังคับเลี้ยวแบบแร็คแอนดิเนี่ยนไฟฟ้า(ยังมีอาการดีเลย์อยู่บ้างในบางจังหวะที่ต้องโยกเปลี่ยนเลน หรือเลี้ยวโค้งแคบๆ) ระบบเบรคเป็นดิสค์เบรคทั้ง 4 ล้อ ให้ฟิลลิ่งของแป้นเบรค และสมรรถนะในการทำงานที่ดีพอตัว ล้อแม็กเลือกใช้ขอบ 16 นิ้ว

สิ่งที่น่าสนใจคือระบบ ADAS ที่ทาง Neta ให้มาในแบบ Level 2 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างบอดี้นิรภัย HSS Body, ถุงลมนิรภัยคู่หน้า, ระบบเบรค ABS, EBD, BA, Auto Brake Hold, ระบบเบรคฉุกเฉินอัตโนมัติ AEB(Automatic Emergency Brake, ระบบแจ้งเตือนการชนทางด้านหน้า (FCW)Forward Collision Warning, ระบบแจ้งเตือนรถคันหน้าเคลื่อนที่ (FVSA)Front Vehicle Start Alert, ระบบควบคุมความเร็วต่ำอัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ (TJA)Traffic Jam Assist, กล้องมองหลัง

เซ็นเซอร์กะระยะถอยหลัง, เบรคมือไฟฟ้า, ระบบควบคุมความเร็ว (ACC)Adaptive Cruise Control, ระบบควบคุมการทรงตัว, ระบบแจ้งเตือนรถออกนอกเลน (LDW)Lane Departure Warning-ระบบดึงรถกลับให้เข้าอยู่ในเลน(LKA)Lane Keeping Assist, ระบบช่วยออกตัวบนทาลาดชัน-ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน, ระบบแจ้งเตือนแรงดันลมยาง, ระบบล็อครถอัตโนมัติเมื่อออกตัว, ไฟ Follow Me Home และจุดยึด ISOFIX, ระบบคันเร่งเดียว One-Pedal ที่สามารถปรับระดับได้, ระบบไฟสูงอัตโนมัติ (AHB) Auto High Beam

ระบบ ADAS Level 2 เท่าที่ได้ลองใช้งานถือว่าทำงานได้ดีในระดับที่น่าพอใจ สร้างความปลอดภัยในการเดินทางทั้งในเมือง และนอกเมืองได้เป็นอย่างดีเมื่อเทียบกับราคาตัวรถ 5 แสนกลางๆ และระบบนี้หลักๆ จะทำงานได้ดีเยี่ยมเมื่อเปิดระบบ ACC นอกจากนี้เวลาที่ไปแค็มพ์ปิ้งหรือเวลาไฟฟ้าที่บ้านดับฉุกเฉิน Neta V-II มีระบบ V2L จ่ายไฟฟ้าออกสู่ภายนอก ให้กำลังได้สูงถึง 3.3 kW มากสุดแล้ว ณ เวลานี้


 

Neta V-II ออกจำหน่ายด้วยกัน 2 รุ่น ประกอบด้วย Lite ราคา 5.49 แสนบาท และรุ่น Smart ที่เต็มพิกัดกับระบบ ADAS Level 2 ราคาอยู่ที่ 5.69 แสนบาท สีสันตัวรถมีให้เลือกทั้งหมด 4 สีด้วยกัน ขาว White Storm, สีเททา Midnight Gray, สีชานม Milk Tea และสีฟ้า Baby Blue

 

   

 Neta X B-Suv ที่พร้อมเปิดศึกกันเจ้าตลาด ราคาแพล่มๆ มาว่า 7.xx แสนบาท 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้