535 จำนวนผู้เข้าชม |
วันนี้ฤกษ์งามยามดีสำหรับการเปิดตัวรถกระบะไฟฟ้า 100% เจ้าแรกของเมืองไทย ภายใต้แบรนด์ Riddara รุ่น RD6 ซึ่งเข้าเป็นทางเลือกให้กับสาวกที่ชื่นชอบรถกระบะ และใช้งานในรูปแบบที่หลากหลาย และไม่ได้เน้นการบรรทุกหนัก โดยมุ่งหวังไปกลุ่มลูกค้าที่มีไลฟ์สไตล์การใช้งานที่หลากหลาย และต้องการเปิดประสบการณ์กับรถพลังงานไฟฟ้าที่ยังสามารถบรรทุกของได้บ้าง ลุยได้ ออกไปตั้งแคมป์ปิ้งช่วงวันหยุดยาวได้
ตัวรถใหญ่สูสีคู่แข่งเจ้าตลาด..มาในรูปแบบของกระบะโมโนค็อก
Riddara RD6 ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นรถกระบะไฟฟ้า 100% เน้นการใช้งานที่หลากหลายรูปแบบ โดยโครงสราร้งของตัวรถมาในรูปแบบ โมโนค็อก(แบบเดียวกับรถยนต์นั่ง) ไม่ได้เป็นแบบ แชสซีส์ออนเฟรม เหมือนรถกระบะทั่วไปที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้
มิติของตัวรถ RD6 ทีขนาดของตัวรถใหญ่พอๆ กับรถกระบะในบ้านเราเลยก็ว่าได้ ตัวรถยาว 5,260 มม., กว้าง 1,900 มม.(ไม่นับกระจกมองข้าง), สูง 1,865 มม., ความยาวฐานล้อ 3,120 มม., ความกว้างฐานล้อหน้า 1,600 มม., ความกว้างฐานล้อหลัง 1,620 มม., ความสูงใต้ท้องรถ 221 มม., มุมปะทะด้านหน้า 22 องศา และมุมจากด้านหลัง 25 องศา น้ำหนักของตัวรถ 2,065-2,090 กิโลกรัม(ตัวรถมี 4 รุ่น)
มิติของพื้นที่กระบะท้าย ยาว 1,525 มม., กว้าง 1,450 มม., ลึก 540 มม. ความจุ 1,200 ลิตร นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เก็บสัมภาระในฝากระโปรงหน้าอีก 70 ลิตร รองรับน้ำหนักบรรทุกได้สูงสุด 775 กิโลกรัม รับน้ำหนักลากจูงได้สูงสุด 2,500 กิโลกรัม
เทียบมิติกับคู่แข่งในตลาดอย่าง Ford Ranger มีมิติตัวรถใหญ่ที่สุด 5,370 มม., กว้าง 1,918 มม. สูง 1,884 มม., ความยาวฐานล้อ 3,270 มม. จะเห็นได้ว่า Riddara RD6 มิติตัวรถเล็กกว่าไม่มากนัก ดังนั่นก็จัดอยู่ในมิติไซส์เดียวกับคู่แข่ง ซึ่งย่อมส่งผลให้พื้นที่ห้องโดยสารกว้างขวางนั่งสบายแน่นอน
โดดเด่นด้วยกระจังหน้าแบบมีไฟโลโก้
รูปลักษณ์ภายนอกของ RD6 ออกแบบให้มีความสวยงาม เหลี่ยมสันผสานเส้นสายที่ช่วยให้ตัวรถดูมีมิติในทุกมุมมอง ไฟหน้าแบบ ADB Matrix LED ในทุกรุ่นกระจังหน้าออกแบบให้มีโลโก้คำว่า Riddara ที่มีไฟเรืองแสงบ่งบอกความเป็นรถกระบะไฟฟ้า 100% กันชนหน้าดีไซน์ออกแนวสปอร์ตด้วยกรอบส่องดักลมสีดำขนาดใหญ่ 2 ฝั่ง และตรงกลางเป็น ช่องดักลมเข้าไปเป่าระบายความร้อนให้กับหม้อน้ำ และแผงคอยล์ร้อนของระบบปรับอากาศ
เส้นสายด้านข้างออกแบบให้เสมือนมีโป่งล้อทั้ง 4 ช่วงให้ตัวรถดูมีมิติ หลังคาออกแบบให้มีราวของแร็คหลังคาติดตั้งมาให้เสร็จสรรพ รุ่น 73.9kW (4WD) และ 86kW (4WD) ตัวกระบะเชื่อมต่อเป็นชิ้นเดียวกับตัวรถทำให้ตัวรถดูทะมัดทะแมงมากยิ่งขึ้น ด้านท้ายออกแบบไฟท้ายเป็นแนวนอนสไตล์รถเก๋ง ฝาท้ายใช้สวิทช์ไฟฟ้าในการปลดล็อค แต่เปิด-ปิดแบบแมนนวล โดยมีช็อคอัพฝาท้ายมาช่วยผ่อนแรง ตัวกันชนหลังออกแบบให้กลมกลืนไปกับตัวรถ และมีอ็อฟชั่นเสริมสำหรับติดตั้งชุดลากเทรลเลอร์ พื้นที่ในกระบะท้ายติดตั้งวัสดุคอมโพสิตที่มีความแข็งแรงสูง ช่วยกันรอยมาให้เสร็จสรรพ(ไม่ใช่แบบที่รถกระบะใช้กันทั่วๆ ไป) ทนแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี กระบะท้ายฝั่งขวามือติดตั้งช่องเสียบปลั๊กไฟ AC 220V(10A),ช่องเพาเวอร์เอ้าท์เลต DC 12V (10A) และช่องปล่อยไฟ V2L สูงสุด 21 kW
เรียบง่าย..เน้นการใช้งาน
ภายในห้องโดยสารของ RD6 ออกแบบเน้นความเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวก และไฮเทคแบบที่รถไฟฟ้าควรจะมี อาทิหน้าจอเรือนไมล์ LED ขนาด 10.25 นิ้ว มองเห็นตัวเลขได้อย่างชัดเจน จออินโฟเทนเม้นท์ตรงกลางขนาด 12.3 นิ้ว 63kW(2 WD) กับ 14.6 นิ้ว 73.9kW(2WD) 73.9kW(4WD) 86kW (4WD) แบบทัชสกรีน ที่ซ่อนฟังก์ชั่นการใช้งานของตัวรถไว้อย่างครบถ้วน เชื่อมต่อ Apple Car, Andriod Auto, วิทยุ FM-Bluetooth ได้
พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นแบบ 3 ก้าน โดยสวิทช์ปุ่มมัลติฟังก์ชั่นระหว่างรุ่น 2WD และ 4WD จะใช้งานไม่เหมือนกัน โดยรุ่น 2WD สามารถปรับน้ำหนักของพวงมาลัยได้ที่สวิทช์บนพวงมาลัย แต่ในรุ่น 4WD การปรับน้ำหนักของพวงมาลัยต้องเข้าไปปรับตั้งในจอกลางแทน
ระบบปรับอากาศคันที่ได้ลองขับเป็นแบบอัตโนมัติแยกอุณหภูมิซ้าย-ขวาได้ พร้อมกับมีช่องแอร์ททางด้านหลังทุกรุ่น และคอนเกียร์ในรุ่น 4WD มีแท่นชาร์จมือถือแบบไร้สายมาให้ พร้อมช่องเสียบ USB A และ C มาให้ โดยที่ด้านหลังก็มีช่องเสียบ USB A และ C มาให้อย่างล่ะ 1 ช่องอีกเช่นกัน
เบาะนั่งคู่หน้ารุ่น 63kW (2 WD) ฝั่งคนขับเป็นแบบปรับไฟฟ้า 6 ทิศทาง และผู้โดยสารตอนหน้าปรับอัตโนมือ 6 ทิศทาง รุ่น73.9kW (2WD), 73.9kW (4WD), 86kW (4 WD) เป็นแบบไฟฟ้าฝั่งผู้ขับขี่แบบ 6 ทิศทาง ไฟฟ้าฝั่งผู้โดยสารตอนหน้า 6 ทิศทาง ตัวเบาะนั่งออกแบบให้นั่งได้สบาย วัสดุถือว่าดี ตัวเบาะไม่นุ่มหรือแข็งจนเกินไป ช่วยลดอาการเมื่อยล้าขณะขับขี่ทางไกลได้ดีทีเดียว พื้นที่เหนือศีรษะทางด้านหน้ามีให้พอสมควร
มาต่อกันที่ด้านหลัง เบาะนั่งออกแบบให้นั่งสบายกว่าคู่แข่งในตลาด พนักพิงมีมุมองศาให้หลังได้เอนพิงได้แบบสบายๆ(กระบะยุคนนี้นั่งหลังแทบตรงยกเว้น Navara ที่ยังนั่งได้สบายขึ้นมาหน่อย) ส่วนลองนั่งค่อนข้างยาวรองรับต้นขาได้เป็นอย่างดี พื้นที่วางเท้าเยอะพอควร การเก็บเสียงในห้องโดยสารอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเลยทีเดียว
ความแรงมีให้เลือก 2 ระดับ/ ขับ 2 กับขับ 4 AWD
ทางด้านพละกำลังของ Riddara RD6 มีให้เลือกอยู่ด้วยกัน 2 แบบ แบบแรกเป็นรุ่น มอเตอร์เดี่ยว ขับเคลื่อนล้อหลัง ให้แรงม้า 272 ตัว แรงบิด 384 นิวตัน-ม. โดยตัวมอเตอร์เดี่ยวจะแบ่งเป็น 2 รุ่น 63kW 2WD มาพร้อมกับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน LFP วิ่งได้ระยะทาง 373 กม.(NEDC) และแบตเตอรี่ความจุ 73.9 kW วิ่งได้ระยะทาง 461 กม.(NEDC) อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ภายในเวลา 6 วินาที ความเร็วสูงสุด 185 กม./ชม.
สมรรถนะเท่าที่ได้ลองสัมผัสสั้นๆ อัตราเร่งช่วงออกตัว คันเร่งตอบสนองได้ค่อนข้างดี ตัวรถไม่ได้ดึงแบบหลังติดเบาะ มาแบบนุ่มๆ แต่เร็ว ขับสนุกระดับนึง เสียงของมอเตอร์ที่เข้ามาในรถค่อนข้างเบามีบางนิดหน่อยตอนความเร็วเกิน 70 กม./ชม. โหมดการขับขี่มี 3 โหมด Comfort, Normal และ Sport ทั้ง 3 โหมด การตอบสนองของคันเร่งแตกต่างกันไม่มากนัก แต่ก็ช่วยเพิ่มอรรถรสในการขับขี่ได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับระบบการรีเจนไฟเวลายกเท้าจากคันเร่ง ตัวรถถูกปรับจูนมาให้ไม่ค่อยรู้สึกแรงดึงเท่าใดนัก ยกเว้นความเร็วต่ำกว่า 20 กม./ชม. ถึงเริ่มสัมผัสแรงดึงจากระบบรีเจนไฟได้ ข้ออดีคือ ทำให้ผู้โดยสารไม่เวียนหัวได้เป็นอย่างดี การรีเจนสามารถปรับตั้งได้ 3 โหมดอีกเช่นกัน
ต่อด้วยของแรง Dual Motor แรงม้ารวมกัน 428 แรงม้า แรงบิด 594 นิวตัน-ม. แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน LFP ความจุ 73.9 kW วิ่งได้ระยะทาง 424 กม.(NEDC) และความจุ 86kW (4WD) แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน NMC(Ternary Lithium) ความจุ 86 kWh วิ่งได้ระยะทาง 455 กม. อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ภายในเวลา 4.5 วินาที ความเร็วสูงสูด 190 กม./ชม.
มาต่อกันที่สมรรถนะของรุ่น 86kW (4 WD) กันบ้าง อัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่ง คันเร่งตอบสนองช้ากว่ารุ่น 63kW 2WD(อาจจะเป็นเฉพาะคันที่ลองขับก็เป็นได้) รู้สึกได้ค่อนข้างชัด รถพุ่งตัวออกไปค่อนข้างเร็ว และไม่เปิดวาปแบบที่ทุกคนเลคยลองรถไฟฟ้าแรงๆ มา ขับง่าย สนุกกับอัตราเร่งจาก Dual Motor ได้ดีทีเดียว ส่วนเรื่องการรีเจนไฟอาการจะเหมือนกันรุ่น 63kW (2WD) และในรุ่น 73-86kW (4WD) ทั้ง 2 รุ่น โหมดการขับขี่ถึง 7 แบบด้วยกัน Eco กับ Comfort จะเป็นแบบขับเคลื่อน 2 ล้อหลังเท่านั่น, Sport-Mud-Off Road-Sand และ Wading จะเป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ
เกือบลืมตัวรถ RD6 ทั้ง 4 รุ่น รับไฟชาร์จ AC สูงสุด 6.6 kW ชาร์จ 20-80% ใช้เวลา 7.8-9.3 ชั่วโมง และไฟชาร์จกระแสตรง DC รับได้มากถึง 110 kW และเครมว่าชาร์จไฟจาก 30% ถึง 80% ใช้เวลาเพียง 30 นาทีเท่านั่น รุ่น 63kW (2WD), 73.9kW (4WD) และ 86kW (4WD) ส่วนรุ่น 63kW (2WD) รับไฟชาร์จสูงสุด 90 kW
อิสระ 4 ล้อ แต่ไม่ได้นุ่มนวลชวนฝันขนาดนั้น
ระบบกันสะเทือนของ RD6 ด้วยความที่ตัวรถเป็นแบบ โมโนค็อก ทำให้การออกแบบระบบกันสะเทือนให้เหมือนกับรถยนต์นั่งทั่วๆ ไป โดยที่ด้านหน้าจะเป็นแบบ อิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัท คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็นแบบ อิสระ มัลติลิงค์ ระบบบังคับเลี้ยวเป็นแบบ แร็คแอนด์พิเนี่ยน EPS ปรัความหนืดได้ 3 ระดับ Comfort, Normal และ Sport ระบบเบรคเป็นดิสค์เบรกทั้ง 4 ล้อ วงเลี้ยวแคบสุด 6.1 ม. พวงมาลัยหมุนซ้ายสุดไปขวาสุด 2.7 รอบ ตัวรถลุยน้ำได้ 450 มม. (2WD) และ 815 มม. (4WD) ล้อแม็กรุ่น 63kW (2WD) ใช้ขนาด 17 นิ้ว พร้อมยางไซส์ 235/65 R17 ส่วนรุ่น 73.9kW (2WD), 73.9kW (4WD) และ 86kW (4WD)มาพร้อมกับล้อแม็กขอบ 18 นิ้ว พร้อมยางไซส์ 235/60 R18
อาการของระบบกันสะเทือนเท่าที่ได้สัมผัสในระยะเวลาสั้นๆ กับรุ่น 63kW (2WD) และ 86kW (4WD) เอาที่รุ่นแรกก่อน น้ำหนักพวงมาลัยจะค่อนข้างหนัก แม้จะปรับลงมาที่โหมด Comfort แล้วก็ตาม ความฉับไวของพวมาลัยอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับรถกระบะทั่วๆ ไป ไม่ได้ไวแบบรถเก๋ง อาการของช่วงล่างเวลาเลี้ยวโค้งแคบๆ ความเร็ว 40 กม./ชม. หน้ารถไม่ยุบมากนัก ส่วนด้านท้ายที่เป็นแบบอิสระให้การเกาะถนนที่ดีพอตัว กลับกันเวลาเจอรอยต่อของผิวถนนที่ไม่เรียบ การซัพแรงสั่นสะเทือนด้านหน้าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีพอตัว ไม่นุ่มหรือกระด้างจนเกินไป ส่วนทางด้านหลังหากคาดหวังจะให้นุ่มดั่งรถเก๋งนั่นหมดสิทธิ เพราะทาง Riddara เซ็ทไว้เพื่อการรับน้ำหนักบรรทุก เลยออกแนวกระด้างนิดๆ แต่ไม่ได้กระเด้ง กระดอน แบบรถกระบะใช้แหนบทั่วๆ ไป
ตามด้วยรุ่น 86kW (4WD) น้ำหนักของพวงมาลัย(วันที่ได้มีโอกาสสัมผัสนั่น) กลับเบากว่าของรุ่น 63 และ 73kW(2WD) ทั้งๆ ที่อยู่ในโหมด Normal เป็นเรื่องที่ค่อนข้าง งง นิดๆ เพราะตัว 4WD มีมอเตอร์ 2 ลูก ส่วนเรื่องอัตราทด และความฉับไวของพวงมาลัยไม่ต่างจากรุ่น 63kW (2WD) การเลี้ยวโค้ง หรือการซัพแรงสั่นสะเทือนไม่ต่างกันเลยก็ว่าได้
ระบบเบรค ค่อนข้างหงุดหงิดเล็กน้อย เพราะเพียงวางปลายเท้าไปที่แป้นเบรคยังไม่ทันออกแรงกดเท่าไหร่ เบรกก็หยุดรถหัวทิ่มล่ะ ดังนั่นการคอนโทรลน้ำหนักในการเบรคทำได้ค่อนข้างยากพอสมควร จนต้องสร้างความคุ้นเคยกันพักใหญ่ และประสิทธิภาพโดยรวมถือว่ารับได้
ระบบความปลอดภัยของ RD6 นั่นมาเต็มพอสมควร อาทิ กล้อง 540 องศา ในรุ่น 73.9kW(2WD), 73.9kW (4WD), 86kW(4WD) ส่วนรุ่น 63kW(2WD) จะมีกล้องถอยหลังมาให้เพียงอย่างเดียว ระบบอื่นๆ อาทิ EPB-ESC-TCS-HHC-HDC-TPMS-ICC-ACC-AEB-FCW-LDW-LDA-RCTA-RCTB จะมีตั้งแต่รุ่น 73.9kW(2WD) ขึ้นไป
ภาพรวมสั้นๆ เท่าที่ได้ลองสัมผัส Riddara RD6 ทั้ง 2 ตัว ต้องบอกว่าเป็นการเปิดมิติใหม่ของกระบะในเมืองไทยเลยก็ว่าได้ เพราะมาในรูปแบบของรถไฟฟ้า 100% และโครงสร้างแบบ โมโนค็อท พร้อมกับระบบกันสะเทือนอิสระทั้ง 4 ล้อ รถเหมาะกับกลุ่มลูกค้าที่ใช้รถคันเดียวแบบ All in One เที่ยวได้ ขนของได้ มีความไฮเทคของฟังก์ชั่นภายใน การขับขี่ที่สบาย อัตราเร่งหายห่วง แต่มาติดที่สมรภูมิของรถกระบะในเมืองไทยจัดอยู่ในขั้นปราบเซียน ถ้าไม่ดีจริง อยู่ยากมากๆ แต่ขอเอาใจช่วยให้ Riddara RD6 ถูกใจใครหลายๆ คนที่อยากได้รถกระบะ แต่สมรรถนะแบบเดียวกับรถเก๋ง
ส่วนราคาของ Riddara RD6 นั่น รุ่น 63kW ราคา 8.99 แสนบาท, รุ่น73.9Kw ราคา 9.99 แสนบาท, รุ่น 73.9kW(4WD) ราคา 1.149 ล้านบาท และรุ่น 86kW(4WD) ราคา 1.299 ล้านบาท