115 จำนวนผู้เข้าชม |
ค่าย BYD ยักษ์ใหญ่ในโลกอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน หลังจากเข้ามาทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า 100% ประมาณปีกว่าๆ ด้วยรถยนต์ 3 รุ่น และใน BYD เองยังมีค่ายรถยนต์ในเครืออีก 3 แบรนด์ จนเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาในงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ได้นำยานยนต์ตัวหรูภายใต้แบรนด์ DENZA มาให้ได้ยลโฉมกับรูปลักษณ์ MPV สุดหรู ถึงเวลาสุกงอมเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา REVER ตัวแทนจำหน่าย BYD ในประเทศไทย ได้เผยโฉม DENZA D9 พร้อมกับแผนการตลาดที่แยกแบรนด์ และดีลเลอร์ออกมาจาก BYD สำหรับการทำตลาดในเมืองไทย
ดีไซน์หรู..สมฐานะคู่แข่งของ Toyota Alphard
เรื่องการดีไซน์ภายนอกของ DENZA D9 ทางทีมวิศวกรออกแบบได้นำแนวคิด tt-Motion มาเป็นตัวเชื่อมการรังสรรค์เส้นสายตัวรถให้ดูกลมกลืนสวยงาม อาทิเช่น เส้นสายของกระจังหน้าที่เรียบง่าย แต่ยืดออกไม่รู้จบ ให้ความรู้สึกมีพลัง สอดรับกับชุดไฟหน้า Full LED พร้อม Daytime Running Light ทรงลูกศร ทางด้านล่างออกแบบให้มีชุดไฟเลี้ยวเสริมเข้ามุมพร้อมไฟส่องข้างทางในขณะเลี้ยว
เส้นสายด้านข้างออกแบบให้ดูเพรียวบาง ลดความเทอะทะของรูปแบบตัวรถสไตล์ MPV นอกจากนี้ยังออกแบบให้เส้นของเสา A-Pillar ยาวจรดเสา D-Pillar ให้เป็นชิ้นเดียวกัน นอกจากความสวยงามแล้วยังได้ในเรื่องของความแข็งแรงของโครงสร้างตัวรถได้เป็นอย่างดี หลังคาเลือกใช้ Panoramic Roof ขนาดใหญ่ ช่วงฝั่งคนขับกับผู้โดยสารตอนหน้าสามารถเปิดกระดก-สไลด์เปิดได้ ทางด้านท้ายรถได้มีการออกแบบชุดไฟท้ายทรงแนวยาวเชื่อมพาดผ่านระหว่างมุมตัวรถทั้ง 2 ฝั่ง พร้อมกับซ่อนชุดเลนส์ไฟท้าย LED แบบลูกศร โดยใช้หลอด LED มากถึง 660 ดวง ฝาท้ายด้านบนติดตั้งชุดสปอยเลอร์เน้นเรื่องหลักอากาศพลศาสตร์ แถมยังซุกชุดใบปัดน้ำฝนซ่อนเข้ารูปไว้ในตัว
มิติของตัวรถ DENZA D9 ความยาว 5,250 มม., กว้าง 1,960 มม., สูง 1,920 มม., ความยาวฐานล้อ 3,110 มม. ความสูงใต้ท้องรถ 155 มม. และ 144 มม. เมื่อมีโหลดบรรทุก
คู่แข่งของ DENZA D9 อาทิ Toyota Alphard มีมิติตัวรถ ยาว 5,010 มม., กว้าง 1,850 มม., สูง 1,950 มม., 8วามยาวฐานล้อ 3,000 มม.
Zeekr 009 คู่แข่งตัวฉกาจฉบับไฟฟ้า มิติตัวรถยาว 5,209 มม., กว้าง 2,024 มม., สูง 1,812 มม., ความยาวฐานล้อ 3,205 มม.
MG Maxus 9 คู่แข่งที่เปิดตัวก่อนเพื่อน มิติตัวรถยาว 5,270 มม., กว้าง 2,000 มม., สูง 1.840 มม., ความยาวฐานล้อ 3,200 มม.
จะเห็นได้ว่ารถในกลุ่ม MPV ทั้งหมด MG Maxus 9 ตัวรถยาวที่สุด ความกว้างแพ้ Zeekr อยู่ 24 มม. ความสูง DENZA D9 ได้เปรียบ ส่วนความยาวฐานล้อ D9 ได้เปรียบ Alphard แต่แพ้คู่แข่งร่วมชาติทั้ง 2 ตัว
หรูหรา..เพียบพร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวก..เบาะแถว 3 แคบไปนิด
ภายในห้องโดยสารของ DENZA D9 มีให้เลือกจำนวนที่นั่ง 2 แบบคือ 2+2+2 และ 2+2+3 สำหรับตลาดเมืองไทยทาง BYD ตัดสินใจเลือกภายในตัวรถมาเป็นแบบ 2+2+3 โทนสีสันภายในมีให้เลือก 2 สี ดำ และครีม
คอนโซลหน้าออกแบบตามสไตล์รถไฟฟ้ายุคใหม่ เน้นความเรียบง่าย มีแค่จอเรือนไมล์ TFT แบบ 3 มิติ ขนาด 10.25 นิ้ว ที่แสดงผลการทำงานต่างๆ ของตัวรถได้ครบถ้วน พร้อม W-HUD(Head up Display) ขนาด 12 นิ้ว ความสว่าง 10,000 Unit สะท้อนบนกระจกบังลมหน้าฝั่งคนขับ มองรายละเอียดได้ชัดเจนมากๆ อาทิ ความเร็ว, ระบบ ADAS, Cruise Control และการเรียกสายเข้าเวลามีคนโทรศัพท์เข้ามาเมื่อมีการเชื่อมต่อ Bluetooth
หน้าจอมัลติมีเดียตรงกลางขนาด 15.6 นิ้ว(เท่ากับ ATTO3 Extended, Seal) อันเป็นที่อยู่ของระบบสั่งการต่างๆ ของตัวรถทั้งหมด หน้าจอเป็นทัชสกรีนทำงานไวดีมาก สามารถเชื่อมต่อ Bluetooth, Apple Car Play และ Andriod Auto แบบไร้สาย ระบบคำสั่งเสียง 4 โซน ระบบเครื่องเสียงพรีเมี่ยมแบบ Hi-Fi Class by Dynaudio ลำโพง 14 ตำแหน่ง มิติเสียงที่ให้ถือว่าครบถ้วน แต่ออกแนวแบนๆ สักนิด(ตามสไตล์รถจีนแทบจะทุกค่าย)
พวงมาลัย 2 ก้าน พร้อมปุ่มมัลติฟังก์ชั่นทั้ง 2 ฝั่ง ปรับได้ 4 ทิศทาง ช่องแอร์กลางถูกออกแบบให้อยู่ใต้จอมัลติมีเดีย สอดรับกับคอนโซลกลางแบบ 2 ชั้นขนาดใหญ่ หัวเกียร์แบบคริสตัล(เพิ่มความหรูหรา) ล้อมรอบด้วยเหล่าบรรดาปุ่มฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ ของตัวรถ เท้าแขนออกแบบให้มีฝาเปิด-ปิดได้ 2 ฝั่ง หน้าชุดคันเกียร์เป็นแท่นชาร์จโทรศัพท์แบบไร้สาย และคอนโซลกลางด้านล่างออกแบบให้มีพื้นที่เก็บของขนาดใหญ่ พร้อมเสียบ USB Type A และ Type C อย่างละช่อง รวมไปถึงช่องเสียบไฟเพาเวอร์เอ้าท์เลทอีก 1 ช่อง
เบาะนั่งคู่หน้าออกแบบให้มีขนาดใหญ่นั่งสบายตลอดการเดินทาง และลดการเมื่อยล้า ปรับไฟฟ้า 8 ทิศทางทั้ง 2 ฝั่ง และมาคู่กับระบบพนักพิงดันหลังไฟฟ้า 4 ทิศทาง ตำแหน่งท่านั่งถือว่าดีไม่สูง หรือต่ำจนเกินไป เบาะผู้โดยสารแถว 2 คือ ไฮไลท์ของ DENZA D9 เพราะมาในรูปแบบของ Captain Seat ขนาดใหญ่ เต็มเปี่ยมไปด้วยความสะดวกสบายอาทิ ปรับไฟฟ้า 4 ทิศทาง พร้อมระบบดันหลัง 4 ทิศทาง ระบบนวด ระบบระบายความร้อนของเบาะนั่ง ระบบ Memory Seat บริเวณเท้าแขนจะมีหน้าจอ LCD แบบ Touch Screen สามารถสั่งการระบบต่างๆ ได้อาทิ การปรับค่าทำงานต่างๆ ของเบาะนั่ง, เปิด-ปิดประตูสไลด์, เปิด-ปิด แผ่นบังแสงของ Panoramic Roof ตอนหลัง, ปรับอุณหภูมิของระบบปรับอากาศตอนหลัง, เปิด-ปิด ตู้เย็น ซึ่งตู้เย็นจะมีความจุ 7.5 ลิตร ปรับช่วงองศาได้ตั้งแต่ -6 ถึง 50 องศา เท้าแขนของเบาะแถว 2 ยังมีช่องชาร์จมือถือแบบไฟไร้สาย แถมมีช่องเสียบ USB Type C ให้อีกด้วย
ตำแหน่งของเบาะนั่งแถว 2 ถือว่านั่งสบายมากๆ มีพื้นที่วางขาแบบเหลือเฟือเมื่อถอยหลังเบาะไปให้สุด แต่หากมีผู้โดยสารแถวสุดท้ายนั่งไปด้วย การปรับตำแหน่งของเบาะนั่งแถว 2 นั่น อาจทำให้พื้นที่วางขาเหลือไม่มากนัก แต่ก็ยังนั่งได้สบายระดับนึง ส่วนเบาะนั่งแถว 3 สามารถปรับได้ 4 ทิศทางแบบอัตโนมือ และมาเสียเปรียบ Zeekr 009 ตรงไปสามารถปรับเรียบเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระท้ายรถได้ พื้นที่เก็บสัมภาระท้ายรถมีความจุ 410 ลิตร และเมื่อปรับเบาะแถว 3แล้วเลื่อนเดินหน้าจนไปชิดเบาะแถว 2 จะได้พื้นที่เก็บสัมภาระเพิ่มขึ้นเป็น 2,310 ลิตร
2 ความแรง 2 ระบบขับเคลื่อน ไม่จี๊ดจ๊าดแต่เหมาะสมกับรูปแบบตัวรถ
ด้านความแรงของ DENZA D9 มีให้เลือก 2 แบบความแรง 2 แบบระบบขับเคลื่อนตามรุ่นรถ โดยรุ่นเริ่มต้น Premium จะมากับขุมพลัง มอเตอร์ไฟฟ้าตัวเดียว ขับเคลื่อนล้อหน้า โดยตัวมอเตอร์เป็นแบบ Permanent Magnet Synchronous Motor ให้แรงม้า 230 กิโลวัตต์(kW) หรือ 318 แรงม้า(PS) แรงบิด 360 นิวตัน-ม. มาคู่กับแบตเตอรี่แบบ Lithium-ion ความจุ 103.36 kWh รองรับไฟชาร์จ AC สูงถึง 11kW และไฟชาร์จ DC 166kW อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใช้เวลา 9.5 วินาที ชาร์จไฟครั้งนึงวิ่งได้ระยะทาง 600 กม. ตามาตรฐาน NEDC
เท่าที่ได้ลองสัมผัสมานั้นในเรื่องของอัตราเร่งอาจไม่ได้หวือหวามากมายนัก เพราะตัวรถหนักทะลุ 2 ตัน และด้วยรูปแบบของตัวรถที่ค่อนข้างต้านลม แต่ก็เพียงพอการเดินทาง จังหวะเร่งแซงไม่ต้องลุ้นจนจิตใจว้าวุ่น ส่วนความเร็วสูงสุดที่เครมไว้ 190 กม./ชม. นั้นไม่มีโอกาสได้ลอง แต่ภาพรวมขณะเดินทางด้วยความเร็ว 90-130 กม./ชม. ถือว่าน่าพอใจเป็นอย่างมาก
ต่อด้วยรุ่น Performance AWD จัดชุดด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว แบบ Permanent Magnet Synchronous Motor ให้พละกำลัง 275 กิโลวัตต์(kW) หรือ 375 แรงม้า(PS) แรงบิด 470 นิวตัน-ม. จับคู่กับแบตเตอรี่แบบ Lithium-ion ความจุ 103.36 kWh(เท่ากับรุ่น Premium) รองรับไฟชาร์จ AC 11kW และ DC 166kW อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใช้เวลา 6.9 วินาที ชาร์จไฟ 1 ครั้งวิ่งได้ระยะทาง 580 กม. ตามมาตรฐาน NEDC
สมรรถนะเท่าที่ได้ลองสัมผัสมานั่น อัตราเร่งถือว่าดีกว่ารุ่น Premium อย่างเห็นได้ชัด จังหวะออกตัว มอเตอร์ทั้ง 2 ลูกทำงานแข็งขันดี พาตัวรถหนักทะลุ 2 ตัน ปรู๊ดปร๊าดพอตัว จังหวะเร่งแซงหายห่วง การปรับจูนคันเร่งถือว่าทำได้ดีทั้ง 2 รุ่น และจังหวะการรีเจนไฟเวลายกเท้าจากคันเร่งก็ดูเป็นธรรมชาติเหมือนกับ BYD รุ่นอื่นๆ ถ้าอยากให้ตัวรถดูหน่วงมากๆ เวลารีเจนไฟควรตั้งไว้ที่ High จะดีที่สุด ลดภาะการใช้งานของเบรกให้น้อยลงอีกด้วย
Di-Sus นุ่มนวลไปหน่อย..ปรับอีกนิดจะดีมาก
ระบบกันสะเทือนของ DENZA D9 ด้านหน้าเป็นอิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัท คอยล์สปริงพร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็นมัลติลิงค์ โดยในรุ่น Premium ทางด้านหลังจะเป็น คอยล์สปริง ช็อคอัพแบบปรับไฟฟ้า ส่วนรุ่น Performance AWD ด้านหลังเป็นแบบ Di-Sus ใช้ถุงลมในการปรับแข็ง-อ่อน
ด้านสมรรถนะของช่วงล่างในรุ่น Premium นั่นขับในเมืองถือว่าสบาย นุ่มนวล แม้จะออกนุ่มไปนิด การโยนตัวขณะโยกเปลี่ยนเลนกระทันหัน ตัวรถมีอาการหวิวๆ เล็กน้อย กลับกันถ้าเจอถนนที่ผิวไม่ค่อยเรียบ การเก็บพื้นถนนต่างๆ ทำได้ดีคนนั่งๆ สบาย ไม่หัวสั่น หัวคลอน กลับกันถ้าเจอลอยถนนมากๆ อาการท้ายโยนมีให้เห็นอยู่บ้าง
รุ่น Performance AWD กับความรู้สึกในขณะขับขี่บอกตรงๆ ว่าอาการด้านหลังนุ่มกว่า Premium พอควร ขับทางเรียบๆ นุ่มสบาย แต่ถ้าเจอถนนที่เป็นลอนมากๆ อาการท้ายโยนกลับมีมากกว่ารุ่น Premium เข้าใจได้ว่าเป็นถุงลมแต่ควรเซ็ทค่าแรงดันลมให้มากกว่านี้อีกสักนิด จะขับ และนั่งสบายกว่านี้ แต่ถ้าวิ่งทางเรียบๆ ความเร็วสูง อาการของตัวรถถือว่านิ่งดีที่เดียวทั้งคู่
ระบบบังคับเลี้ยวเป็นแบบ แร็คแอนด์พิเนี่ยน พร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้า EPS อัตราทดถือว่ากำลังพอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป จังหวะหมุนพวงมาลัยไปตามสั่ง ไม่ต้องหมุนพวงมาลัยมากจนเกินไป น้ำหนักพวงมาลัยไม่เบาหวิว แต่ก็ไม่หนักจนเกินรับ วงเลี้ยวแคบสุด 5.95 ม. เมื่อเทียบกับมิติตัวรถที่ยาว 5.2 ม. ถือว่าดีพอตัว
ระบบเบรคเป็นดิสค์เบรคทั้ง 4 ล้อ ให้ประสิทธิภาพการทำงานที่ดีใช้ได้เลย ระยะการทำงานของแป้นเบรคไม่ถือว่าไม่ไวมาก มีระยะให้มีในการคอนโทรลน้ำหนักแป้นเบรคอยู่บ้าง ไม่ได้มาแบบเหยียบปุ๊บ เบรคปั๊บ คนนั่งหัวทิ่มหัวต่ำ และบวกกับระบบรีเจนที่คอยช่วยหน่วงความเร็วของตัวรถแล้วทำให้การทำงานของเบรคมีประสิทธิภาพดีเลย แม้น้ำหนักของตัวรถจะมากก็ตาม
ภาพรวมของ DENZA D9 จัดเป็นรถ MPV ตัวหรูที่พกพารูปลักษณ์หน้าตาที่หรูหราเมื่อยามแรกเห็น ภายในห้องโดยสารที่หรูหรา และเต็มเปี่ยมไปด้วยฟังก์ชั่นการใช้งานที่ครบถ้วน โดยเฉพาะรุ่น Premium เปิดราคามาแบบเพื่อนร่วมกลุ่มมองหน้ากันเลยที่เดียวที่ 1.999 ล้านบาท ส่วนรุ่น Performance AWD เปิดราคาอยู่ที่ 2.699 ล้านบาท เล่นเอา Toyota Alphard, Zeekr 009, MG Maxus 9 ถึงกับจุกกันไปเลยก็ว่าได้ และยิ่งการรับประกันตัวรถ 8 ปี หรือระยะทาง 160,000 กม. การรับประกันระบบขับเคลื่อน 8 ปี หรือระยะทาง 150,000 กม. ณ ตอนนี้โชว์รูม DENZA เปิดแล้วทั้งหมด 10 โชว์รูม และกำลังจะเปิดทยอยเพิ่มขึ้น เพราะปีหน้า DENZA จะมีรถรุ่นใหม่ออกมาอีกแน่ๆ 1-2 รุ่น ด้วยกัน